วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม 2021 … พระสังฆราชยอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย เป็นประธานพิธีมิสซาขอบพระคุณ โอกาสฉลองวัดนักบุญยอแซฟกรรมกร แก่งคอย ในเวลาประมาณ 15:00 น. พิธีเริ่มต้นด้วย คุณพ่อ พรชัย สิงห์สา ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการฉลองวัดครั้งนี้ เพื่อขอบคุณพระเจ้าสำหรับพระพรที่ได้ให้พวกเราผ่านทางคำเสนอวิงวอนของนักบุญยอแซฟ … ความสำคัญของที่แห่งนี้คือที่พักของบรรดามิชชันนารี ที่ตั้งใจเดินทางไปแพร่ธรรมที่อีสาน และลาว การเป็นที่พักเพื่อเติมใฟ เพื่อให้ใจก้าวเดิน หลังจากนั้นมิสซาขอบพระคุณได้ดำเนินไป … พระคุณเจ้าพิบูลย์ ได้ให้ข้อคิดจากชีวิตของนักบุญยอแซฟ ที่ต้องทำงาน และดูแลพระเยซูเจ้า เราเองควรเลียนแบบท่านในความรักที่มีต่อพระเจ้า และเพื่อนพี่น้อง … หลังจากนั้น คุณพ่อเรืองฤทธิ์ ฤทธิบุญชัย ได้กล่าวถึงกลุ่มนักบุญยอแซฟ ที่คัดเลือกฆราวาสชายผู้ทำหน้าที่ประกาศพระวรสาร ช่วยเหลือผู้ยากไร้ ใส่ใจคนยากจน และมีการถวายคำสัญญาในการดำเนินชีวิตตามคุณธรรมของนักบุญยอแซฟ …. หลังจากนั้นพระคุณเจ้าพิบูลย์ ได้พูดถึงการสร้างวัดหลังใหม่ เพื่อเป็นการรำลึกถึงบรรดามิชชันนารีตั้งแต่แรกเริ่มที่ได้บุกเบิก และเคยใช้สถานที่แห่งนี้ในการเป็นที่พัก เพื่อประกาศข่าวดี … จากนั้นพระคุณเจ้าได้ขอให้มีอาสาสมัครจากคนในวัดเพื่อช่วยมาดูเรื่องการก่อสร้างวัดหลังใหม่ด้วย หลังจากนั้นจึงรับประทานอาหารร่วมกัน
การฉลองวัดในครั้งนี้ เป็นการฉลองวัดที่ยึดมาตรการทางด้านสาธารณสุข ในการวัดอุณหภูมิ ใช้เจลแอลกอฮอร์ สวมใส่หน้ากากอนามัย
Admin website สังฆมณฑลนครสวรรค์ ขอนำบทความ “มหากางเขนที่แก่งคอย” มาให้ท่านอ่าน เพื่อเรียนรู้เรื่อราวประวัติศาสตร์ ณ แก่งคอย
มหากางเขนที่แก่งคอย…
1
“แก่งคอย” … มีวัดแบบครอบครัวที่ตั้งตระหง่านใกล้ๆ กับสถานีรถไฟแก่งคอย ผมมีความทรงจำกับวัดหลังนี้เสมอ คิดย้อนกลับไปปีหลังๆ ที่ผมอยู่บ้านเณร จะพาเณรไปร่วมฉลองวัดเสมอ หลังจากฉลองวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด สระบุรี อีกไม่กี่เดือนก็ฉลองวัดแบบครอบครัวหลังนี้ … วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร แก่งคอย สระบุรี … ยังจำกลิ่นอบอวลของความสัมพันธ์แบบครอบครัวของพี่น้องสัตบุรุษที่นี่ได้เสมอ
2
จะว่าเป็นวัดชายแดนของมิสซังก็ว่าใช่ เพราะต่อจากแก่งคอย ในถนนมิตรภาพ ก็เป็นมวกเหล็กซึ่งมีคริสตชน 1 ครอบครัว จากมวกเหล็กก็เข้าเขตมิสซังนครราชสีมา วัดแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ กลางดง นครราชสีมา สัตบุรุษที่มาอยู่ติดกับวัดย้ายมาจากคลองบางพระหลวง นครสวรรค์ ลูกวัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ บางพระหลวง วัดน้อยของอาสนวิหารนักบุญอันนา นครสวรรค์ …
ผมชอบเชื่อมโยงไปเรื่อยๆ … บทความนี้จะเน้น “กางเขนที่ถูกปัก มิชชันนารีเรียกว่า มหากางเขน” อาจเนื่องด้วยปัญหาต่างๆ แห่งยุค … ความยากลำบากในการเดินทาง และตั้งใจให้แก่งคอยเป็นที่มั่นที่จะเดินทางไปดงพญาไฟ (เย็น) เพื่อเข้าไปโคราช ไปอุบล ตามลำดับ … ที่นี่เป็นที่พักกายใจของมิชชันนารี ที่แบ่งปัน ที่พบกันของประสบการณ์งานแพร่ธรรมของมิชชันนารี เพื่อเดินทางต่อไป เป็นที่พักใจ เมื่อเหนื่อยล้ามาหยุดพักที่แห่งนี้ เติมไฟและไปต่อ … แม้จะเป็นมหากางเขนที่ยิ่งใหญ่ แต่มีแม่พระเคียงข้างคอยบรรเทาใจเรา
3
รายงานประจำปีของคณะมิสซังต่างประเทศที่ส่งไปยังศูนย์กลางคณะฯ (ต่อไปจะเรียกว่ารายงานประจำปี) ค.ศ. 1876 พระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ เขียนเล่าว่า “พวกหมู่บ้านลาวที่คุณพ่อของคณะ คือคุณพ่อแปร์โรซ์ และคุณพ่อโปรดม เพิ่งสามารถปักมหากางเขนได้เป็นครั้งแรก (ที่แก่งคอย) บัดนี้มีคริสตังนับได้ 30 คน และคงจะมีผู้มาเรียนคำสอนกันมากหลังฤดูเก็บเกี่ยวข้าวในนาเสร็จ การที่มีผู้กลับใจใหม่ 30 คนเช่นนี้ ที่จริงก็ไม่ใช่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่นัก แต่เป็นกลุ่มชนแรกที่เข้าถึงพระวรสาร ในดินแดนที่เคยมีแต่ปีศาจเป็นเจ้าตลอดมา นับเป็นที่มั่นแรกที่จะใช้เป็นฐาน ในการออกไปแสวงหาผู้อื่นที่พระเป็นเจ้าผู้ทรงพระทัยปรารถนาจะช่วยให้รอดพ้น … การประกาศพระศาสนาในจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศสยามก็มิใช่งานที่ไม่เสี่ยงอันตราย เพราะแทบทุกแห่งมีไข้ป่าชุกชุมมาก”
รายงานประจำปี ค.ศ. 1878 …. เรื่องงานแพร่ธรรมของคุณพ่อโปรดม รายงานว่าดังนี้ “พระเป็นเจ้าทรงมีพระประสงค์ที่จะอวยพรแก่ดินแดนที่ได้รับการบุกเบิกใหม่ๆ ซึ่งได้แก่คนลาวในประเทศไทย ความสำเร็จที่ได้รับในปีนี้เป็นความหวังที่สำคัญในอนาคต คุณพ่อโปรดม ซึ่งหายป่วยจากการเป็นไข้ป่าสามารถปักหลักที่เขาโคก สามารถขยายอาณาเขตการทำงานไปถึงโคราช….”
รายงานประจำปี ค.ศ. 1880 …. บันทึกเรื่องราวของแก่งคอย แทรกในเรื่องเด่นประจำปีนั้น คือพวกจีนอั้งยี่ตั้งหน้าเบียดเบียนศาสนาคริสตัง พวกสมาคมลับลงมือข่มเหงคริสตังในหลายแห่ง ด่า สบประมาท ทุบตี เพื่อให้คริสตังได้ทิ้งศาสนา …. “ในเขตของคุณพ่อโปรดมที่ได้รับความเสียหายหนัก เมื่อพิจารณาจากปัจจัยเล็กน้อยที่คณะจะสามารถจัดให้ท่านได้ ในประเทศไทยนั้น การปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ของข้าหลวงที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงบางคน ก่อให้เกิดมีโจรผู้ร้ายอย่างดาษดื่น มีการลักขโมยและปล้นสะดมกันกลางวันแสกๆ ก็มี … มีโจรเช่นนี้กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่กล้าเผยโฉมหน้า ได้ย่องเข้ามาในตอนกลางคืนสู่บริเวณวัดที่สร้างด้วยไม้ด้วยความยากลำบาก เป็นวัดของกลุ่มคริสตชนใหม่ที่แก่งคอย พวกเหล่าร้ายที่ชินต่อการก่ออาชญากรรมทุกประเภทมาแล้ว ได้จุดไฟเผาวัดซึ่งไหม้เป็นจุณลงอย่างรวดเร็ว”
ในรายงานประจำปีเดียวกันนั้นยังกล่าวถึงการดำเนินการหลังจากนั้น ที่ได้ไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่บ้านเมือง แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล เพราะเจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับผู้ที่ทำผิดมาลงโทษได้ ดีที่ไม่ได้สมรู้ร่วมคิดกับคนร้าย ความตั้งใจของบรรดามิชชันนารีคือ “ตั้งใจสร้างวัดขึ้นใหม่” ด้วยเหตุผลที่ว่า “การสร้างวัดขึ้นใหม่หลังจากถูกไฟเผาทำลายไปเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะเป็นสถานที่ซึ่งเราจำเป็นต้องผ่านเพื่อติดต่อกับภาคอีสาน” ผมชอบคำที่บันทึกไว้ในรายงานประจำปีนั้น “ดูซิ พวกเราข้ามเทือกเขามาแล้ว จากที่นี่ไป พวกเรามีคริสตังที่ต้องให้ความเอาใจใส่ดูแลอย่างดี และเมื่อพระเป็นเจ้าอวยพรให้แก่ความพยายามของเรา เราจะได้เพิ่มทวีแกะน้อยฝูงใหม่ นำสู่เคหาสน์ของพระเยซูเจ้าของเรา …”
4
เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ขาดหายไปบ้าง จนที่สุดผมพบเนื้อเพลงที่ฝึกสอนขับร้องให้นักเรียนในโรงเรียนที่ชื่อว่า “โรงเรียนแม่พระ แก่งคอย” จากกล่องจดหมายโรงเรียนแม่พระ แก่งคอย สระบุรี จดหมายสมัย พระคุณเจ้าเรอเน มารี แปร์รอส ค.ศ.1924-1946 … แม้ทุกวันนี้จะไม่มีชื่อโรงเรียนแม่พระแห่งนี้แล้ว (ในวงเล็บของผมก็หวังว่าสักวันหนึ่งเราอาจมีโรงเรียนแม่พระ ขึ้นที่แก่งคอย แต่ก็คงเป็นความคิดในวงเล็บจริงๆ) จากเอกสารนั้นจึงปะติดปะต่อประวัติศาสตร์คริสตัง ณ แก่งคอย ที่เราเคยมีโรงเรียน และแล้วก็ถูกปิดในช่วงที่มีสงคราม ทุกวันนี้มีวัดที่ชื่อว่า “วัดนักบุญยอแซฟกรรมกร แก่งคอย” คุณพ่อชวินทร์ เสงี่ยมแก้ว เป็นเจ้าอาวาส
5
พระคุณเจ้ายอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย ประสงค์อยากจะสร้างวัดที่แก่งคอย … วงเล็บในข้อที่ 4 ดูอาจจะเป็นจริงได้ยาก แต่ความเป็นไปได้ในสมัยของพระคุณเจ้าพิบูลย์ คือการสร้างวัดหลังใหม่ แทนหลังเก่า เป็นวัด 2 ชั้น ที่ชั้นล่างสามารถจัดกิจกรรมได้ วัตถุประสงค์ของพระคุณเจ้าคือ อยากให้วัดหลังนี้เป็นอนุสรณ์สะท้อนงานแพร่ธรรมเมื่อโบราณกาลที่สถานที่แห่งนี้เป็นที่พัก เป็นประตูสู่ภาคอีสาน … นอกจากนั้นยังเป็นอนุสรณ์โอกาสปีนักบุญโยเซฟ องค์อุปถัมภ์ของวัดหลังนี้ … พี่น้องท่านใดประสงค์จะร่วมทำบุญติดต่อได้ที่สังฆมณฑลนครสวรรค์ … ขอบคุณในน้ำใจดีครับ
ปล.
เรื่องราวของคริสตัง ณ แก่งคอย สถานที่พำนัก พัก และเดินทางต่อเพื่อไปแพร่ธรรมในดินแดนภาคอีสาน แต่เดิมเรียกว่าการแพร่ธรรมกับชาวลาว คุณพ่อโปรดมได้สร้างกลุ่มคริสตชน ตามบันทึกในรายงานประจำปี ค.ศ. 1876 “ปักมหากางเขน ณ แก่งคอย” กลุ่มคริสตชนผ่านเรื่องราวของการปล้นสะดม เผาวัด และการสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ทำหน้าที่เดิมคือเป็นที่พักเพื่อผ่านไปยังภาคอีสาน จากนั้นมีหลักฐานเรื่องการสร้างโรงเรียนชื่อ “โรงเรียนแม่พระ” สมัยพระคุณเจ้าแปร์รอส น่าจะถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณ ค.ศ. 1946 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสังฆมณฑลนครสวรรค์ … คุณพ่อพงษ์ศักดิ์ เสงี่ยมแก้ว เป็นเจ้าอาวาส
อุดมสาร ปีที่ 45 ฉบับที่ 7 ประจำวันที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2021