ประวัติสังฆมณฑลนครสวรรค์

“ดินแดนแห่งพันธสัญญา .. ปวงประชาแห่งความรัก”

เล่าความหลัง .. สังฆมณฑลนครสวรรค์

โอกาส สุวรรณสมโภชการสถาปนาเป็นสังฆมณฑล

ดินแดนแห่งพันธสัญญา คือ  อาณาจักรของผู้มีความเชื่อ  ความวางใจ  และความรัก ต่อพระเจ้า เป็นประชากรที่พระทรงกำหนดไว้ เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชาติทั้งมวลที่ตกระกำลำบากให้มีสภาวะที่ดีขึ้น ทั้งร่างกาย จิตใจ สมเกียรติ สมศักดิ์ศรีที่เกิดมาจากพระเจ้าและจะกลับไปหาพระองค์ในวันข้างหน้า ส่วนตัวของอับราฮัมเอง ก็กลายเป็นทูตสวรรค์ที่นำพระพรมาสู่มนุษยชาติ… พระศาสนจักรสังฆมณฑลนครสวรรค์  เปรียบได้กับอับราฮัม  ที่พระองค์ทรงมอบความไว้วางใจให้ประกาศพระวรสารแก่ปวงชนในพื้นที่ 13 จังหวัด แม้เป็นพระศาสนจักรที่กำลังเกิดใหม่ในหลายพื้นที่   แต่พระสงฆ์  นักบวช  ผู้นำคริสตชนทุกคน  ต่างมีชีวิตชีวา  ที่จะขยายอาณาจักรแห่งความเชื่อ ให้กว้างไกลต่อไป โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์  ที่มีความพร้อมมากที่สุดที่จะรับฟังพระวาจาของพระองค์

ปวงประชาแห่งความรัก คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ และคริสตชน สังฆมณฑลนครสวรรค์ที่ดำเนินตามคติพจน์ ด้วยเจตารมณ์แห่งความรักที่มีต่อกัน

การแพร่ธรรมก่อนการสถาปนาสังฆมณฑล

พิษณุโลก เป็นสถานที่ในเขตสังฆมณฑลนครสวรรค์ในปัจจุบันนั้น แต่เดิมเคยเป็นสนามแห่งการแพร่ธรรมของบรรดามิสชันนารีตั้งแต่ปี ค.ศ.1671 โดยการนำของพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส คุณพ่อลาโน ซึ่งภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระสังฆราชองค์แรกดูแลมิสซังสยาม ท่านได้ริเริ่มและบุกเบิกงานในเขตพิษณุโลก การมาเยือนพิษณุโลกของท่านทำให้ท่านได้รับประสบการณ์ในการทำงานแพร่ธรรม และมองเห็นโครงการมากมายในอนาคต ซึ่งเมื่อท่านกลับในกรุงศรีอยุธยา ท่านจึงเริ่มงานในการเรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และเขียนคู่มือแนะนำการทำงานแพร่ธรรมกับชาวสยามอีกด้วย เมื่อเป็นพระสังฆราชแล้ว พระคุณเจ้าลาโน ก็ไม่ทอดทิ้งพิษณุโลก ในปี ค.ศ. 1676 ได้ส่งพระสงฆ์มาประจำเพื่อทำงานที่ท่านได้เริ่มไว้แล้วตั้งแต่แรก การแพร่ธรรมที่พิษณุโลกเฟื่องฟูมาก เพราะเจ้าเมืองพิษณุโลกเป็นชาวโปรตุเกตุและเป็นเพื่อนกับพระสังฆราชลาโน พิษณุโลกจึงเป็นสถานที่เพื่อจัดตั้งศูนย์แพร่ธรรม เพื่อขยายงานในการแพร่ธรรมสู่ภาคเหนือ พม่า ลาว และจีน 

มีการสร้างวัดขึ้นที่บ้านวังแม่แดง มีวัดนักบุญมีคาแอล และบ้านน้ำเย็นมีวัดชื่อ วัดนักบุญเทเรซา ด้วย … นอกจากนั้นแล้วที่พิษณุโลก คุณพ่อลังกลัวส์ ยังได้สร้างสถานสงเคราะห์เด็กเล็ก ๆ บ้านพักพระสงฆ์ ถูกใช้เป็นโรงเรียนสำหรับสอนอ่านเขียน และเรียนภาษาลาติน เพื่อเตรียมครูคำสอน และพระสงฆ์ของมิสซังอีกด้วย

ต่อมามีการเบียดเบียนศาสนา และภาวะสงคราม คริสตศาสนาในพิษณุโลกได้รับผลกระทบด้วย และหลังจากนั้นมากลุ่มคริสตชนที่เคยรุ่งเรืองก็หายสาบสูญไป

จากนั้นก็มีความพยายามที่จะสถาปนาชุมชนความเชื่อนี้ขึ้นอีกครั้งหนึ่งแต่ดูเหมือนว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จ จนประสบผลสำเร็จในสมัยที่คุณพ่ออังเดร พลอย  โรจนเสน ในปี 1920 ในช่วงนั้นท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำโพ และดูแลงานตั้งแต่บ้านแป้งจนถึงพิษณุโลก

การแพร่ธรรมลุ่มน้ำเจ้าพระยา(ปากน้ำโพ)  ถึงเมืองพิษณุโลก

ในปี 1877 พระสังฆราช หลุยส์ เวย์  ได้สังเกตุเห็นว่า ที่จะไปเชียงใหม่คงเป็นการยากลำบากึงตัดสินใจจะตั้งกลุ่มเป็นระยะ ๆ ขึ้นไป จึงจะสำเร็จ ท่านจึงสำรวจแม่น้ำเจ้าพระยา .. ซึ่งภายหลังมีการตั้งกลุ่มคริสตังที่บ้านแป้ง ปากน้ำโพ บางขาม และที่พิษณุโลก .. ทั้งนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อขยายงานแพร่ธรรมไปยังเชียงใหม่ นครสวรรค์ และพิษณุโลกจึงมีความสำคัญ เพราะเป็นทางผ่านที่บรรดามิสชันนารีผ่านขึ้นไปทำงานในภาคเหนือของไทย

ในปี 1878 คุณพ่อลมบาร์ด เทศน์สอนตั้งแต่อยุธยาจนถึงพิษณุโลก และมีความตั้งใจที่จะฟื้นฟูการแพร่ธรรมในเขตนี้อีกครั้ง การเทศน์สอนของท่านที่พิษณุโลก ทำให้มีคนกลุ่มใหญ่มาฟังสิ่งที่ท่านเทศน์ แต่ก็ยังไม่มีใครเข้าเป็นคริสตังเลย ที่สุดแล้วท่านก็เดินทางกลับไปประจำที่วัดบ้านแป้ง สิงห์บุรี

จากรายงานประจำปี 1888 ที่ส่งไปยังคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ปี 1889 ในรายงานประจำปีกล่าวว่า เห็นความพยายามของคุณพ่อแก็นตริก ซึ่งท่านร้อนรนมาก ท่านออกเยี่ยมคริสตังซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนญวณ และกระจัดกระจายตั้งแต่วัดบ้านแป้ง จนถึงเมืองพิษณุโลก ความเหน็ดเหนื่อยของคุณพ่อทำให้เกิดคุณค่าเพราะทำให้มีผู้ที่กลับใจพอสมควร นอกจากนั้นยังมีการบันทึกว่า “ถ้ามีพระสงฆ์เพียงพอเราควรหันมาทำงานแพร่ธรรมที่นี่ โดยเฉพาะที่พิษณุโลก และระแหง(ตาก) ในเอกสารยังย้ำอีกว่า “เป็นเขตสำคัญที่ถูกวางแผนเพื่อตั้งเป็นศูนย์ใหม่ที่สำคัญ ยังขาดก็เพียงแต่อุปกรณ์ต่าง ๆ จนยังไม่อาจดำเนินการตามโครงการได้”

ปี 1910  ในสมัย พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส  ท่านคิดจะตั้งโรงเรียนที่วัดปากน้ำโพ นครสวรรค์ เพื่อทำหน้าที่ในการฝึกหัดการสอนคำสอน ในสมัยที่คุณพ่อการ์ตองเป็นเจ้าอาวาส พระคุณเจ้าเดินทางไปพิษณุโลก พร้อมกับคุณพ่อการ์ตอง และคุณพ่อบรัวซาด์ ซึ่งสมัยพระสังฆราชหลุย์ เวย์ ท่านก็ต้องการจะตั้งกลุ่มคริสตชนที่นี่เหมือนกันเพราะมีคริสตังที่อยู่กระจัดกระจาย แต่สงครามโลกก็ทำให้ต้องเลิกล้มโครงการไป แล้วพระสังฆราชแปร์รอสพร้อมเพื่อนพระสงฆ์อีกหลายองค์ก็ต้องเดินทางไปเป็นทหารที่ฝรั่งเศส

กล่าวโดยสรุปว่า กลุ่มคริสตชนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนถึงพิษณุโลกก็ได้รับการสถาปนาขึ้น ตามลำดับดังนี้ กลุ่มบ้านแป้ง ในปี ค.ศ.1877 กลุ่มปากน้ำโพ (เกาะญวณ) ในปี 1888 กลุ่มบางขาม 1910 และกลุ่มพิษณุโลก 1920

การสถาปนาเป็นสังฆมณฑลนครสววรค์

1.วันที่ประกาศที่กรุงโรม ในเอกสาร ที่ขึ้นต้นว่า “Distractis nonnuliis territoriis a Sede Bangkokensi, novo quaedam diocesis Nakhornsavanensis nomine”   เป็นเอกสารที่บอกถึงการแบ่งสังฆมณฑลใหม่ ที่แยกออกจากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และสังฆมณฑลใหม่นี้ชื่อว่า “สังฆมณฑลนครสวรรค์” มีทั้งหมด 12 จังหวัด (ไม่รวมอุตรดิตถ์) โดยมี วัดนักบุญอันนา เป็นอาสนวิหาร … เอกสารนี้ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1967

2.วันอภิเษกพระสังฆราช มิเชล ลังเยร์ … สารสาสน์ ในหน้าที่เป็นข่าวในประเทศ ฉบับที่ลงวันที่ 1-15 พฤษภาคม 1967 กล่าวถึงการอภิเษกพระสังฆราชองค์ใหม่ เพื่อปกครองในสังฆมณฑลใหม่คือ “นครสวรรค์”

3.วันที่สถาปนาสังฆมณฑล … ในหนังสือสารสาสน์  ฉบับเดียวกันยังบันทึกวันที่พระสังฆราชมิแชล ลังเยร์ มาที่นครสวรรค์ และถือว่าวันนี้เป็นวันสถาปนาสังฆมณฑล … ในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 1967 ….

ประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์

1. พระสังฆราช มิเชล ลังเยร์ ค.ศ. 1967 – 1976 …. คติพจน์ “ด้วยความซื่อสัตย์และอ่อนโยน” ได้ปกครองดูแลสังฆมณฑลนครสวรรค์เป็นเวลา 9 ปี ท่านร่วมมือกับคณะสงฆ์มิชชันนารี และพระสงฆ์พื้นเมือง …  ท่านมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งกับการได้ทำพิธีบวชพระสงฆ์สังฆมณฑลองค์แรกเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.1975 คือคุณพ่อเบเนดิกต์ มนัส ศุภลักษณ์ สัตบุรุษอาสนนักบุญอันนานครสวรรค์ พระคุณเจ้าขอลาออกจากตำแหน่งหน้าที่ในปี ค.ศ. 1976 สภาพระสังฆราชแห่งประเทศไทยได้สนองเจตนารมณ์โดยดำเนินการทูลเสนอ องค์สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ได้ทรงแต่งตั้งคุณพ่อยอแซฟบรรจง อารีพรรค ดำรงตำแหน่งอธิการสามเณราลัยแสงธรรม สามพราน เป็นประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์สืบภารกิจต่อมา


2. พระสังฆราช ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค ค.ศ.1976-1998  คติพจน์ “ที่ไหนมีรักที่นั่นมีพระเจ้า” ท่านได้ส่งเสริมงานแพร่ธรรมทั้งในด้านการบุกเบิกสถานที่ใหม่และงานอภิบาลดูแลรักษากลุ่มคริสตชนให้มีความเชื่อมั่นคงโดยการสรรหาบุคลากรผู้ร่วมงานที่ทำเพิ่มมากขึ้นจากคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส คณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ พระสงฆ์จากสังฆมณฑลจันทบุรี ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ภคินีคณะรักกางเขนจันทบุรี และครูคำสอน นอกจากนั้นยังได้สนับสนุนกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์นักบวชมากขึ้น โดยส่งสามเณรเข้ารับการอบรมที่สามเณราลัยยอแซฟ สามพราน และบูรณะระบบการทำงานของสังฆมณฑลในรูปคณะกรรมการมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุมัติการสร้างสามเณราลัยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญและความหวังของสังฆมณฑล


3. พระสังฆราช หลุยส์ จำเนียร  สันติสุขนิรันดร์  คติพจน์ “พระอาณาจักรจงมาถึง” จัดทำคู่มือทิศทางงานอภิบาลของสังฆมณฑลนครสวรรค์ ส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มยุวธรรมทูตในโรงเรียนโดยจัดสัมมนาให้ความรู้กับครู และคณะนักบวชที่ทำงานในสังฆมณฑล อนุมัติและร่วมก่อสร้างอารามคาร์แมล นครสวรรค์ ส่งเสริมสนับสนุนให้ก่อตั้งคณะเซอร์ร่า กลุ่มสตรี สุขอนามัย ส่งเสริมชีวิตครอบครัวและกลุ่มคริสตชนย่อยให้แพร่หลายในสังฆมณฑล จัดพิมพ์หนังสือต่างๆที่เข้าใจง่ายเพื่อใช้ในพิธีกรรมการสอนคำสอนและงานอภิบาล ได้แก่ หนังสือคำสอนคาทอลิก หนังภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับและบทเพลงสดุดีประจำวันอาทิตย์ ปี ABC บทเพลงสดุดีประจำวันธรรมดาปีคู่ ปีคี่ บทเพลงสดุดีมิสซาวันธรรมดาในเทศกาลและหนังสือพระคัมภีร์พันธสัญญาใหม่ เป็นต้น


4. พระสังฆราช ฟรังซีสเซเวย์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช คติพจน์  “คำสอนเรื่องกางเขนเป็นอานุภาพของพระเจ้า”… จัดประชุมสมัชชาสังฆมณฑลนครสวรรค์ และออกกฤษฎีกาของสังฆมณฑลนครสวรรค์ ประสานงานและเชิญชวนให้คณะนักบวชคณะพระหฤทัยพระเยซูเจ้าแห่งเบธารามประสานงานและเชิญชวนนักบวชหญิงธรรมฑูตนักบุญดอมินิกให้มาทำงานในเขตอำเภอแม่สอด ท่านเป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลเป็นเวลา 2 ปีและได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอัครสังฆราช แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ แทนพระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู


5. พระสังฆราช ยอแซฟ พิบูลย์  วิสิฐนนทชัย ค.ศ. 2009 –ปัจจุบัน คติพจน์ “พระเจ้าเป็นความรัก” เป็นพระสังฆราชที่เรียบง่าย สมถะ ท่านให้ความสนใจกับคนยากจน การให้ทาน และอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ตัวอย่างงานที่ท่านทำเพื่อช่วยเหลือคนยากจน เช่น ช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย คนเก็บขยะ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานต่างชาติ ท่านได้ช่วยเหลือให้โอกาสเด็กยากจนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ได้มาเรียนในโรงเรียนพระกุมารเยซู บ้านแป้ง สิงห์บุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนของสังฆมณฑล ท่าน ได้ทำงานอภิบาลสนใจวัดเล็กๆ ที่ถูกทอดทิ้ง ท่านพยายามรื้อฟื้นความเชื่อและขยายงานอภิบาลไม่ใช่แค่ระดับวัดหรือคริสตชนเท่านั้น แต่ท่านทำในระดับชุมชนหมู่บ้าน รวมถึงจังหวัดด้วยโดยไม่แบ่งแยกศาสนาเเต่คิดว่าทุกคนคือลูกของพระเจ้า ท่านเปิดโอกาสให้ฆราวาสได้มีบทบาทในการช่วยเหลือด้วยการเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ประกาศข่าวดี ซึ่งทางเขต 3 ของสังฆมณฑลเรียกว่าซิสเตอร์ชาวบ้าน หรือบราเดอร์หมู่บ้าน ด้านการ บริหารงานท่านมีความปรารถนาให้แต่ละเขตทั้ง 3 เขตมีความเป็นหนึ่งเดียวกันช่วยเหลือกันเป็นรูปแบบการทำงานที่มาจากรากฐานของสภาพความเป็นจริงในแต่ละเขต