พระอัครสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์

3 นาที

พระอัครสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์

Archbishop Louis Chamniern Santisukniram

ประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์ปี ค.ศ. 1999-2005 

ชีวิตในวัยเด็ก

พระอัครสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์   เกิดวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ.1942 ที่บ้านหนองแสง จังหวัดนครพนม บิดาชื่อนายสมเกียรติ  มารดาชื่อนางเสาร์ สันติสุขนิรันดร์  มีพี่น้องอีก 5 คน เป็นหญิง 4 คน  ชาย 1 คน คือ คุณพ่อบรรจง สันติสุขนิรันดร์ พระสงฆ์คณะซาเลเซียน  

การศึกษาและเส้นทางกระแสเรียก

เริ่มการศึกษาชั้น ป.1-4 ที่หนองแสงและชั้น ม.1-6 ที่บ้านเณรฟาติมา ท่าแร่ สกลนคร มีพระสงฆ์ไทยดูแลระยะ 2 ปีแรก จากนั้นก็ได้รับการดูแลจากพระสงฆ์ คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส สอบเทียบ ม.8 แล้วเป็นครูเณร 3 ปีกว่า 

ปี ค.ศ.1963 พระสังฆราชเกี้ยน เสมอพิทักษ ์ ได้ส่งท่านไปยังบ้านเณรใหญ่ โปรปากันดา  ฟีเด กรุงโรม ประเทศอิตาลี ท่านเรียนจบปริญญาโท สาขาวิชาปรัชญาและเทววิทยา ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ จากสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 พร้อมกับ คุณพ่อประวิทย์ พงษ์วิรัชไชย และคุณพ่อเพิ่มศักดิ์ เสรีรักษ์และพระสงฆ์องค์อื่นๆ รวม 262 องค์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1970 ที่กรุงโรม

จากครอบครัวที่เป็นคริสตชนและบิดามารดาเป็นเกษตรกร ทำนา ทำสวน ทำไร่ เพราะฉะนั้น   เพื่อแบ่งเบาภาระของทางครอบครัว วันเสาร์-วันอาทิตย์ หรือเวลาปิดเทอม ท่านจำเนียรในวัยเด็ก มักจะไปเลี้ยงควายที่มีอยู่ 4-5 ตัว ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีความสุขมากที่สุดในชีวิต เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ไปวัดสม่ำเสมอ ซึ่งบิดามารดาก็เป็นคนศรัทธาด้วย มีโอกาสได้ช่วยมิสซา คุณพ่อเจ้าวัดเคยถามว่ามีใครสนใจจะเป็นเณรไหม? ในตอนนั้นท่านยังไม่แน่ใจจึงไม่ได้ตอบอะไร พอจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีเพื่อนๆหลายคน ก็เข้าบ้านเณร ท่านเองก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปไหนแน่ จนในที่สุดก็ตัดสินใจไปพบกับคุณพ่อเจ้าวัด  เวลาเป็น คุณพ่อเอดัว ถัง นำลาภ ซึ่งเป็นพระสงฆ์มิชชันนารี จากสังฆมณฑลจันทบุรี มาทำงานที่อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นคนเคร่งมาก ในเวลาเดียวกันก็เป็นคนใจดีมากด้วย ท่านบอกกับคุณพ่อเอดัวว่า ‘ผมมีความประสงค์จะเข้าบ้านเณร’ พ่อเอดัวถามว่า “ทำไมมาบอกตอนนี้ มันช้าไปแล้ว 1 เดือน”  เสร็จแล้วท่านก็เขียนจดหมายส่งท่านเข้าบ้านเณร เมื่อไปถึงบ้านเณร ท่านต้องใช้ความพยายามและความอดทนมากในการเรียนให้ทันเพื่อน และท่านก็ทำได้ 

หลังจากจบบ้านเณรเล็ก ท่านต้องเตรียมตัวไปบ้านเณรใหญ่ โปรปากันดา ฟีเด กรุงโรม อย่างกะทันหัน เสื้อผ้าก็ไม่มี ไม่พร้อม ภาษาก็ไม่เคยเรียน ท่านไป 2 คนร่วมกับสามเณรสำราญ วงศ์เสงี่ยม เมื่อไปถึง ก็ต้องเริ่มต้นเรียนจาก a b c ใหม่ อาศัยว่าเคยเรียนภาษาลาติน อังกฤษ และฝรั่งเศส  จึงสามารถประคับประคองตนเองจนก็เข้ารูปเข้ารอยในที่สุด ในช่วง 7 ปีที่บ้านเณร ถือว่าเป็นพระคุณของพระที่ให้โอกาสได้มาเรียน และได้รู้จักกับเณรของพระศาสนจักรในที่ต่างๆ ประมาณ 54 ประเทศ กินอยู่ด้วยกันแบบพี่แบบน้อง เราจึงสามารถผสมผสานวัฒนธรรมกับความคิด และแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันจนจบปรัชญาแล้วก็ต่อวิชาเทววิทยา 

ในช่วงที่อยู่บ้านเณรใหญ่นั้น ท่านมีโอกาสได้รับใช้บ้านเณรอยู่หลายๆ ครั้ง เช่น เป็นผู้จัดวัด ขายหนังสือ เป็นหัวหน้ากลุ่ม รับใช้เพื่อนๆ เมื่อจบแล้วทางบ้านเณรก็กำหนดวันเวลาบวช ท่านได้รับศีลบวช โดย พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ที่ลานมหาวิหารนักบุญเปโตร 

เริ่มต้นภารกิจสงฆ์

  • ค.ศ.1970 – ค.ศ.1972          ผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่  สกลนคร
  • ค.ศ.1972 – ค.ศ.1976         พระสงฆ์ประจำบ้านเณรฟาติมา ท่าแร่  สกลนคร 
  • ค.ศ.1976 – ค.ศ.1980         เหรัญญิกอัครสังฆมณฑล และเลขานุการพระสังฆราช 
  • ค.ศ.1976 – ค.ศ.1977         เจ้าอาวาสวัดนักบุญกาทารีนา ทุ่งมน 
  • ค.ศ.1977 – ค.ศ.1978         ดูแลวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว และวัดพระนามเยซู โพนสว่าง 
  • ค.ศ.1978 – ค.ศ.1980         ดูแลวัดแม่พระรับสาร หนองเดิ่น – ดอนขาว 
  • ค.ศ.1980 – ค.ศ.1981          เจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ สกลนคร
  • ค.ศ.1980 – ค.ศ.1982          อุปสังฆราช 
  • ค.ศ.1981- ค.ศ.1986           อธิการบ้านเณรฟาติมา ท่าแร่ สกลนคร 
  • ค.ศ.1986 – ค.ศ.1987          ดูแลวัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพ หนองห้าง และกลุ่มคริสตชนในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ 
  • ค.ศ.1987 – ค.ศ.1988          อธิการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ท่าแร่ สกลนคร 
  • ค.ศ.1988 – ค.ศ.1990          ธรรมทูตที่ประเทศฝรั่งเศส 
  • ค.ศ.1990 – ค.ศ.1991          ผู้ช่วยเลขาธิการสภาพระสังฆราช ผู้อำนวยการ PMS และดูแลกลุ่ม คริสตชน (แรงงานอพยพ)  
  • ค.ศ.1991 – ค.ศ.1997         รองเลขาธิการสภาพระสังฆราช และผู้อำนวยการ PMS 
  • ค.ศ.1997 – ค.ศ.1998         ผู้อำนวยการฝ่ายอภิบาลและงานแพร่ธรรมหัวหน้าแผนกธรรมทูต และแพร่ธรรมเคลื่อนที่
  • หัวหน้าแผนกคำสอน และดูแลศูนย์คาทอลิกท่าแร่ 
  • 22 พฤศจิกายน ค.ศ.1998    ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ 
  • 23 มกราคม ค.ศ. 1999       รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์ โดย พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู 
  • 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2005       รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง 
  • 20 สิงหาคม ค.ศ. 2005       เข้ารับตำแหน่งพระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง  

วันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1999   นับเป็นวันสำคัญและมีความหมายวันหนึ่ง ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรไทย เป็นวันที่พระศาสนจักรจะต้องจารึกไว้ว่า ประเทศไทยได้มีพระสังฆราชอีกองค์หนึ่ง มารับหน้าที่ในสังฆมณฑลนครสวรรค์ ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชากรหลากหลายที่สุด ทั้งชนพื้นราบและชาวเขา มีพระสงฆ์ นักบวชจากหลายๆ ที่มาอยู่รวมกัน 

นายชุมพาแห่งสังฆมณฑลนครสวรรค์รายงานจากสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย แจ้งว่า สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้ประกาศแต่งตั้งให้คุณพ่อหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ พระสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เป็นพระสังฆราชปกครองสังฆมณฑลนครสวรรค์  สืบต่อจากพระสังฆราช ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค  เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน  ค.ศ. 1998 

วันหนึ่งคุณพ่อจำเนียร ได้รับโทรศัพท์จากพระสมณทูตลุยจี แบรสซาน ท่านบอกว่า “ถ้ามีเวลาก็ขอให้มาเอาเอกสารไปแปลให้หน่อย มีบทหนึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก” พ่อไม่ได้คิดไม่ได้สงสัยและไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไร พ่อก็ถามท่านว่า วันไหน ท่านบอกว่าวันไหนก็ได้ พ่อก็บอกว่า อย่างนี้ขอทำงานทางนี้ไปก่อนแล้วมีเวลาถึงจะลงมากรุงเทพฯ หลังจากนั้นไม่นานมีจดหมายแจ้งมาว่า สมเด็จพระสันตะปาปาทรงมีพระประสงค์ที่จะแต่งตั้งคุณพ่อจำเนียร ให้เป็นพระสังฆราชของสังฆมณฑลนครสวรรค์ แทน พระสังฆราช บรรจง อารีพรรค  คุณพ่อจะรับไหม? ถ้าจะรับหรือไม่รับให้ตอบเป็นทางการ ทำให้พ่อคิดขึ้นมาได้ว่า เออ…มาถึง  “บางอ้อ แล้ว พระสมณทูตคงจะมีมุขอะไรของท่าน  พ่อก็ถามท่านว่า “แล้วที่บอกให้แปลเอกสารล่ะว่าอย่างไร”  เมื่อลงมากรุงเทพฯ พระสมณทูตบอกพ่อว่าบทแปลไม่มีหรอก  และบอกเรื่องการได้รับแต่งตั้งนั้น พ่อใช้เวลาอีก 3 วัน เพราะรู้สึกตัวว่าอายุมากแล้ว ถ้าอายุสักประมาณ 40 ปีมันน่าจะดี การปรับตัวคงจะง่าย การขึ้นภูเขามันคงง่ายกว่า ได้ปรึกษากับคุณพ่อวิญญาณว่าได้รับการทาบทามอย่างนี้ คุณพ่อมีความคิดอย่างไร ถ้าเป็นเหมาะสมอย่างไรก็ช่วยบอกหน่อย และคุณพ่อได้ให้กำลังใจว่าเมื่อ สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเห็นว่าเหมาะสมแล้วก็ให้พิจาร ณาตนเองให้รอบครอบ หลังจากที่คิดแล้วก็ได้คำตอบว่า “ถ้าเป็นน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้าแล้ว เราตอบปฏิเสธ ก็แสดงถึงความใจดำ  พ่อจึงขอให้กรุงโรมประกาศแต่งตั้งในวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1998 ซึ่งตรงกับวันที่แม่พระถวายองค์ในพระวิหาร จนกระทั่งเวลา 18.30 น. ก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการ จากนั้นก็มีเสียงโทรศัพท์กริ๊งกร๊างเข้ามาตลอด แสดงความยินดีและแสดงความเสียใจ มีเพื่อนคนหนึ่งโทรศัพท์มาถามว่า “เฮ้ย… ! รับได้อย่างไรเนี่ย ทำไมถึงได้กล้ารับขนาดนี้”  พ่อก็บอกเขาว่า  “พ่อไม่กล้าเลย ถ้ากล้าคงปฏิเสธแล้ว  แต่พ่อไม่กล้าที่จะปฏิเสธเสียงของพระเป็นเจ้าที่ผ่านทางพระสมเด็จพระสันตะปาปา และงานนี้ พ่อถือว่าเป็นงานที่ต่อเนื่องไม่ใช่งานใหม่ แม้ว่าจะมีตำแหน่งใหม่ ก็เป็นงานของพระ และพ่อถือว่า ไม่ใช่ตำแหน่งที่ทำให้คนมีเกียรติ แต่เป็นคนต่างหากที่ทำให้ตำแหน่งมีเกียรติ เพราะฉะนั้น ตำแหน่งของพระสังฆราชนี้ขึ้นอยู่กับการงานที่จะทำไม่ว่าจะเป็นงานสั่นสอนปกครองพระสงฆ์ ปกครองสัตบุรุษ”

ตราพระสังฆราช หลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์  (นครสวรรค์)

ความปรารถนาและคำภาวนา “ขอให้พระอาณาจักรของพระองค์มาถึง “ทั่วประเทศไทยและทั่วโลก ในตราพระสังฆราชมีองค์พระคริสตเจ้าเป็นอัลฟาและโอเมกา ผู้เป็นพระราชาแห่งพระอาณาจักรที่มีแต่สันติ มนุษย์จะคืนดีกัน… “สุนัขป่าจะอยู่กับลูกแกะ… ลูกโคกับสิงห์หนุ่มจะกินหญ้าด้วยกัน…และสิงห์จะกินฟางเหมือนวัวตัวผู้ ทารกกินนมจะเล่นที่ปากงูเห่า” (อสย.11,1-10) เวลานั้นจะมีความยินดีปรีดาในทุกหนทุกแห่ง

“พ่อได้เลือกโลโก้ หรือตราพระสังฆราช เป็นตราที่สอดคล้องกับคำภาวนาของ พระเยซูเจ้าที่ว่า ขอให้พระอาณาจักรของพระองค์มาถึง” 

คืออยากจะให้ดินแดนของนครสวรรค์ได้รับการประกาศข่าวดี ให้ประชาชนได้รับรู้ว่าพระเยซูเจ้าเป็นผู้ที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมา และในนั้นจะต้องมีองค์พระเยซู และอาณาจักรของพระองค์ที่ทรงตั้งขึ้นจะต้องเป็นอาณาจักรที่นำความดี ความสุขใจ และสันติภาพมาให้ทุกคน เพราะฉะนั้นพ่อได้ให้ความคิดไปทางอารามคาร์แมล กรุงเทพฯ และขอให้คุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช ช่วยเขียนเป็นโลโก้ออกมา มีรูปพระเยซูเจ้านั่งตรงกลาง  พระองค์เป็นอัลฟาและโอเมกา เป็นปฐมเหตุ และอวสาน และอันนี้ พระองค์มาในรูปของพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของพระอาณาจักร และอาณาจักรนั้นจะต้องเป็นอาณาจักรของความรักในสันติ ส่วนพู่ห้อยนั้นจะแกว่งไกว และพริ้วแสดงถึงความยินดีที่มนุษย์คืนดีกันและคืนดีกับพระเจ้า” 

สิ่งแรก…ข้อตั้งใจที่อยากทำในตำแหน่ง

มีหลายอย่างที่อยากจะทำ อยากให้บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และคริสตชนคือรักพระเจ้ามากขึ้นและตระหนักถึงหน้าที่การงานของเขาในฐานะที่เป็นคริสตชนคือผู้ประกาศพระวรสารจะทำอย่างไรจะอบรมกันอย่างไรหรือจะมีวิธีไหนที่จะช่วยให้ทกคนทำงานร่วมกันได้ นี่คือปรารถนาอันสูงส่ง ส่วนวัดต่างๆ พ่อคิดว่าต้องไปเยี่ยมทุกวัด ท่านบอกว่าเตรียมใจไว้นะ ต้องขึ้นเขาลงห้วย บางแห่งต้องเดิน น้ำหนักต้องลด พ่อก็บอกว่าดี

การประกาศพระวรสารไปสู่พี่น้องที่ยังไม่ได้ข่าวดี แต่ว่าภาพใหญ่คือเราพยายามทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้มีของขวัญถวายแด่พระเป็นเจ้า โดยพยายามให้พระสงฆ์ ครูคำสอน และคริสตชนประกาศข่าวดีให้กว้างไกล ที่สุดในทุกหมู่บ้าน ในโรงเรียน เพื่อมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน

การอบรมพระสงฆ์ อบรมคริสตชน ให้มีความสำนึกในเกียรติในหน้าที่ ตรงนี้เป็นงานที่เราจะต้องทำมากที่สุด คริสตชนที่มีอยู่ 9,537 คน ให้เขามีความตระหนักในหน้าที่การงานที่พระเป็นเจ้าทรงมอบหมายให้ พ่อคิดว่าคริสตชนจะเป็นเครื่องมือที่ดีของพระเยซูเจ้าได้มากที่สุดเพราะเขาอยู่แทรกในสังคม 

นอกนั้นงานหลักที่จะวางเป็นแผนก็คือ จะพยายามสร้างจิตใจมากกว่าสร้างวัตถุเราทำเรื่องจิตใจให้แน่นอนมั่นคงเสียก่อน และการสร้างวัดจะตามมาทีหลัง เพราะการสร้างวัดนั้นทำเมื่อไหร่ก็ได้  ถ้าสร้างวัดก่อนแล้วมาสร้างจิตใจที่หลังมันทำยาก

“พ่อคงจะต้องเรียนรู้งานแต่ละอย่าง คงจะลงพื้นที่มากกว่า ตอนนี้เรามีน้ำใจดีที่จะทำงาน งานแต่ละอย่างคงจะมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน บุคคลแต่ละกลุ่มแต่ละเผ่าคงจะมีลักษณะบางอย่างที่เด่น บางอย่างที่ไม่เด่น เมื่อไปเยี่ยมเยียนแล้วเราจะต้องปรึกษากับพระสงฆ์ที่เป็นผู้ดูแลว่าอะไรเป็นอะไร และทำงานร่วมกัน อยากจะทำ อยากจะนำพระวรสารอขงพระเป็นเจ้าหว่านให้มากที่สุด ส่วนจะได้ผลมากน้อยขนาดไหนนั้นเราไม่มีสิทธิ์ที่จะมาตัดสินหรือรอคอย เพราะเป็นเรื่องของพระเป็นเจ้า เราเป็นเพียงผู้หว่าน” 

นายชุมพายุคโลกาภิวัตน์

บทบาทของพระสังฆราชยุคโลกาภิวัตน์ ถ้าหากเราไม่สร้างความสำนึกในเกียรติยศ หน้าที่ที่มีในฐานะป็นคริสตชนแล้วอิทธิพลของโลกวัตถุหรือวัตถุนิยมจะเข้ามากลืนกิน เราจะต้องให้ทั้งสถาบันโรงเรียน วัด ได้ตระหนักถึงการสร้างคนให้มีคุณภาพ ถ้าให้พ่อถามพระสงฆ์ พ่อคงจะถามได้ 3 ข้อ คือ 

  1. คุณพ่อทำงานตามวัด ได้ช่วยคริสตชนให้รักพระเป็นเจ้ามากขึ้นไหม?
  2. คนที่เป็นคริสตชนแล้วได้ช่วยเขาให้รักกันมากขึ้นไหม? เพื่อจะได้เป็นเครื่องหมายของคริสตชนที่แท้จริง และเป็นพยานถึงองค์พระเจ้าได้
  3. ช่วยเขาให้เป็นผู้แพร่ธรรมที่ดีไหม ? 

คิดว่า 3 ข้อนี้จะเป็นตัวที่หล่อหลอมให้ความคิดของบรรดาพระสงฆ์ นักบวช ได้สมบูรณ์ขึ้น ถ้าหากเราทำ 3 ข้อนี้ครบถ้วน ถือว่าประสบความสำเร็จ ถ้าบอกว่าอยู่ตามวัดแล้วไม่ได้ช่วยให้คริสตชนรักพระเป็นเจ้ามากขึ้น แต่กลับเป็นอุปสรรคก็แย่ หรือว่าไม่ได้เป็นผู้ที่ส่งเสริมให้คริสตชนรักกันมากขึ้น เกิดการแตกแยกระหว่างพระสงฆ์ นักบวช แทนที่จะเป็นผู้ประกาศพระวรสารด้วยการเป็นพยานชีวิต กลายเป็นการทำลาย และที่สำคัญที่คนเรายังขาดมากคือจิตตารมรณ์ จิตสำนึกในการเป็นผู้แพร่ธรรม ทุกคนทำได้และต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ถือว่าผิดต่อหน้าที่ การงานและกระแสกเรียกที่ตนเองได้รับมา เพราะการประกาศพระวรสารไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน 

ขอร่วมโมทนาคุณพระเป็นเจ้าที่ได้เลือกคนๆ หนึ่ง ให้มาทำงานในสังฆมณฑลนครสวรรค์ เป็นนายชุมพาของลูกแกะที่นั่น ร่วมงานกับบรรดาพระสังฆราชในประเทศไทย และร่วมกับสมเด็จพระสันตะปาปา ถือว่าเกียรตินี้ไม่ใช่ของคนๆ เดียว แต่เป็นเกียรติของทุกๆ คน ไม่ใช่ตำแหน่งนี้ทำให้คนมีเกียรติ แต่เป็นคนต่างหากที่ทำให้ตำแหน่งมีเกียรติ  เหมือนอย่างที่พระสังฆราชจำเนียร บอกกับเรา เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราได้ช่วยกันภาวนาให้กับผู้ทำงานของพระด้วยความกระตือรือร้น และร่วมมือกับพระองค์ไปตลอดชีวิต 

Related Post

เรื่องล่าสุด