no child left behind “บทสรุปชีวิต บราเดอร์ วิกตอร์ กิล มูนโยส”

< 1 นาที

1

            ถ้าจะหาสักคำพูดหนึ่งมาสรุปชีวิตของใครสักสักคน No Child left behind…. ไม่มีเด็กคนไหนถูกทอดทิ้ง” คำนี้สรุปชีวิตของบราเดอร์ วิกตอร์ กิล ได้ดีที่สุด … ความตายอาจพรากเราจากคนที่รัก แต่ความตายไม่อาจหยุดยั้งความคิดคำนึงถึงคุณงามความดีของเขาได้ … ความตายจะพรากแค่ร่างกาย หากแต่ความสัมพันธ์ทางใจยังมีถึงกันเสมอ … ผมยังจำผู้คนในตลาดที่นครสวรรค์เล่าให้ฟัง “บราเดอร์จะมาหาเด็กที่ไม่ได้เรียน แล้วพาไปเรียนหนังสือ” …

            ในยุคที่ผู้คนตั้งคำถามกับระบบการศึกษาของไทย และโยงใยไปยังการศึกษาคาทอลิก คำตอบที่เห็นเป็นประจักษ์คงไม่ใช่อาคารสถานที่ใหญ่โต ป้ายประกาศการรับรางวัลสถานศึกษาดีเด่นในด้านต่าง ๆ หรือจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นคำนี้ “ไม่มีเด็กคนไหนถูกทอดทิ้ง” … ชีวิตของบราเดอร์วิกตอร์ กิล สะท้อนภาพการศึกษาคาทอลิกที่เด่นชัด … คำถามสำหรับเราคงหนีไม่พ้น “โรงเรียนของเรายึดอุดมการณ์แบบนี้ไหม” หรือปล่อยไปตามกระแส เหมือนโรงเรียนทั่ว ๆ ไปที่ทำเป็นธุรกิจ ไม่ใช่เพื่อการประกาศข่าวดี

2

            ในหนังสืออนุสรณ์ที่ระลึกโอกาสครบ 50 ปี ในการอุทิศตนทางการศึกษาเพื่อเยาวชนในประเทศไทย เมื่อ ค.ศ. 2014 เมื่อมีคนถามถึงประวัติส่วนตัว สิ่งที่ชื่นชอบ และไม่ชอบ คำตอบของท่าน

            “สิ่งที่ข้าพเจ้าไม่ชอบ คือการเอาเปรียบคนอื่น”

         “สิ่งทีข้าพเจ้า รัก หรือ รักมาก คือช่วยเหลือคนยากจน” 

            นี่คือ “ประจักษ์พยาน” ความรักของพระเจ้าในสังคมไทย … 

            ความต่อเนื่องยาวนาน เป็นผลมาจากความรักอย่างแท้จริง … แค่คำพูดว่ารัก แต่ไม่ได้แสดงออกถึงความรักที่มี และมองเห็นได้ ก็ไม่มีประโยชน์ … ที่ที่เขียนไว้เป็นจริงและมองเห็นได้เสมอ ในการให้ “โอกาส” ด้านการศึกษาแก่บรรดาเด็ก ๆ การทำหน้าที่นักบวช สมบูรณ์แบบ เป็นจริง มองเห็น และผู้คนต่างสัมผัสได้ 

3

            โครงการบ้านลาซาล เริ่มต้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1985 ต่อมาเด็กกำพร้า เด็กที่หนีเรียน เด็กที่มีปัญหาครอบครัวจำนวนเพิ่มขึ้น บราเดอร์วิกตอร์ กิล จึงเช่าบ้านเพิ่มเป็น 2 หลัง … ต่อมาปี ค.ศ. 1987 ได้สร้างบ้านลาซาล เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้อยู่อาศัย และไม่ต้องเช่าอาศัยที่อื่น สำหรับเด็กที่จบ ป.6 ซึ่งเรียนต่อในด้านวิชาการไม่ได้ มูลนิธิลาซาลมีโครงการฝึกฝนด้านอาชีพ เปิดสอนวิชาตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่นักเรียน … 

4

            เรื่องราวสุดท้าย คงเป็นความทรงจำที่ บราเดอร์วิกตอร์ กิล เขียนไว้ในโอกาสครบ 50 ปี คณะภราดาลาซาล “บราเดอร์ วิกตอร์ กิล มิชชันนารีชาวสเปน เดินทางเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก ค.ศ. 1964 ประจำที่ลาซาล บางนา เดินทางมาคนเดียว ตอนนั้นอายุ 21 ปี ลาซาลบางนา เพิ่งสร้างได้ปีเดียว ในช่วง 3 เดือนแรกพอเจ็ดโมงเช้าต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ระยะทางไกลถึง 25 กิโลเมตร เพื่อเรียนภาษาไทยที่สาธร วันละ 4 ชั่วโมง เริ่มเรียน 08.00 – 12.00 น. กว่าจะขับรถกลับบางนาก็บ่ายโมงถึงได้กินข้าว ในแต่ละวันต้องสอนหนังสือและดูแลเด็กประจำ เหนื่อยมาก ไฟฟ้าก็ไม่มี ใช้เครื่องปั่นไฟ วันละ 2-3 ชั่วโมง เคยใช้ยากันยุงจุดวางไว้ไต้เตียง แล้วผ้าห่มร่วงลงมาถูกยากันยุงจนไฟไหม้ ต้องกักน้ำมาดับไฟ….”

            นี่คือความสัมพันธ์กับประเทศไทยครั้งแรก ๆ … ความยากลำบากทำให้ยิ่งเข้าใจคนที่ลำบาก … ภายหลังท่านริเริ่มโครงการในการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ ในรูปแบบของการให้การศึกษา 

ปล.

            แม้ภาพเก่า วันหนึ่งจะผุพัง สูญสลาย แต่ความรัก ความจริงใจของผู้ที่อยู่ในภาพจะคงอยู่ในความทรงจำของพวกเราเสมอ … ผมทำมิสซาอุทิศแด่บราเดอร์วิกตอร์ กิล คำสุดท้ายที่ผมเชิญชวนให้ตอบรับ “… จงไปในสันติสุขของพระคริสตเจ้าเถิด” …. เราตอบรับ “ขอขอบพระคุณเจ้า” คิดถึงบราเดอร์เมื่อมาเมืองไทย อยู่กับเรา ลำบากเพื่อเรา สร้างเยาวชนให้เป็นคนดี เป็นประจักษ์พยานถึงพระเยซูเจ้า … ไม่มีใครที่ถูกทอดทิ้ง … ขอบคุณพระเจ้าสำหรับชีวิตของท่านจริง ๆ

Related Post

เรื่องล่าสุด