Peace (shalom) be with you สันติสุข จงสถิตกับท่านทั้งหลายเถิด (ยน 20:21)
1
ไอรอน โดม (iron dome) กางคลุมล้อมอิสราเอลในระยะ 70 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธที่ออกแบบมาเพื่อขัดขวางและทำลายจรวดพิสัยใกล้และระเบิดปืนใหญ่ ที่ยิงจากระยะ 4 ถึง 70 กิโลเมตร และวิถีโค้งอาจนำมันไปสู่พื้นที่อยู่อาศัย มันจะทำหน้าที่ยิงสกัดอาวุธที่เข้ามาทำลายเมือง ซึ่งอิสราเอลคาดหวังว่าจะให้ไอรอน โดมนี้ครอบคลุมได้ไกลถึง 120 กิโลเมตร …. และนี่เป็นเหตุการณ์ในคืนวันที่ 12 จนถึงเช้ามืดวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา … กลุ่มฮามาส ได้ยิงขีปนาวุธเข้าใส่กรุงเทลอาวีฟ อิสราเอลตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางอากาศถล่มตึก 13 ชั้น ในเขตฉนวนกาซา นอกจากนั้นยังมีการปะทะกันระหว่างชาวปาเลสไตน์กับกองกำลังอิสราเอลบริเวณเมืองรอมัลลอฮ์ในปาเลสไตน์ มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย … สถานการณ์ในเยรูซาเล็มรุนแรงขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมของชาวปาเลสไตน์ บริเวณมิสยิดอัลอักซอ ทำให้การชุมนุมลุกลามในหลายพื้นที่
… เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล “กลุ่มติดอาวุธฮามาสและจีฮัดจะต้องจ่ายราคาที่สูงลิ่วสำหรับความรุนแรงที่ก่อ”
… อิสเมล ฮามิยห์ หัวหน้ากองกำลังติออาวุธฮามาส “ถ้าอิสราเอลพร้อมยกระดับ เราก็พร้อมเช่นกัน”
และนี่อาจเป็นสงครามที่เกิดมาจากผู้ที่ใช้พระคัมภีร์เดียวกัน และเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน
“สันติสุข จงสถิตกับท่านทั้งหลายเถิด” (ยน 20:21) เราทุกคนต่างภาวนาเช่นนี้
แต่ Shalom … จะเกิดขึ้นไหม
2
ฉนวนกาซา , เวสต์แบงก์ อิสราเอล ปาเลสไตน์ ผมได้ยินชื่อเหล่านี้ตั้งแต่เป็นเด็ก … ไม่เคยมีช่วงเวลาที่สงบที่ยาวนาน แล้วเราสวดภาวนาเสมอ ๆ ว่า “สันติภาพ” จะเกิดขึ้นในดินแดนดังกล่าว
เรื่องราวความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ มีความยาวนานจริงๆ
ราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล … อับราฮัมนำชาวฮีบรูเดินทางอพยพจากดินแดนเมโสโปเตเมียเข้ามายังดินแดนคานาอัน อันเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าสัญญาว่าจะประทานให้พวกเขา ต่อมาอิสราเอลได้อพยพย้ายถิ่นไปยังอียิปต์ จากชนชาติที่มีเกียรติสมัยโยเซฟ กลับกลายเป็นทาสที่ต้องใช้แรงงานให้พวกอียิปต์ … โมเสส ได้พาพวกเขาออกจากประเทศอียิปต์ นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่พวกเขาผ่านทะเลแดง จนอิสราเอลร้องสรรเสริญพระเจ้าในชัยชนะอันยิ่งใหญ่ … ในช่วงเวลา 40 ปี ที่พวกเขาเดินทางไปยังดินแดนพันธสัญญา โมเสส ได้นำบทบัญญัติ 10 ประการ … ชาวฮีบรูอพยพมาถึงคานาอัน ปรากฏว่าขณะนั้นได้ตกเป็นของชาวฟิลิสเตีย เป็นที่มาของคำว่า “ปาเลสไตน์” ชาวฮีบรูได้ทำสงครามเพื่อชิงดินแดนนี้ … เมื่อเห็นชนชาติอื่นมีกษัตริย์ ชาวยิวขอพระเจ้าประทานกษัตริย์ให้พวกเขา … ซาอูล เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของชาวยิว ต่อมาเป็นเรื่องราวของดาวิด ผู้เป็นกษัตริย์ต่อมา พระองค์สถาปนาอาณาจักรอิสราเอล โดยมีเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง … สมัยกษัตริย์ซาโลมอน (970-931 ปีก่อนคริสตกาล) อาณาจักรอิสราเอลรุ่งเรือง มีการสร้างพระวิหาร … หลังซาโลมอนสิ้นพระชนม์ (926 ปีก่อนคริสตกาล ความแตกแยกในหมู่ชาวยิว จนกระทั่งแบ่งเป็น 2 อาณาจักร คืออิสราเอล มีศูนย์กลางที่สะมาเรีย และอาณาจักรยูดาห์ มีศูนย์กลางที่เยรูซาเล็ม …. จักรวรรดิอัสซีเรียโจมตีและทำให้อิสราเอลล่มสลาย (722 ปีก่อนคริสตกาล) … อาณาจักรยูดาห์ล่มสลาย (587 ปีกก่อนคริสตกาล) จากการโจมตีของจักรวรรดิบาบิโลน พระวิหารสมัยซาโลมอนถูกทำลาย ชาวยิวถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน … จักรวรรดิเปอร์เซียยึดครองอาณาจักรบาบิโลนได้ (ราว 530ปีก่อนคริสตกาล) พระเจ้าไซรัสมหาราช ปล่อยให้ชาวฮีบรูในบาบิโลนกลับไปดินแดนถิ่นเกิด ….พระเจ้าอเล็กซานเดอร์แห่งจักรวรรดิมาซิโดเนีย ยึดครองอิสราเอล (331 ปีก่อนคริสตกาล) …. โรมันผนวกอิสราเอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน เป็นแคว้นยูเดีย (64 ปีก่อนคริสตกาล) …. พระเยซูคริสตเจ้าบังเกิดเป็นชาวยิวที่อาศัยในแคว้นยูเดีย (ค.ศ.5- ค.ศ. 30) … ชาวยิวเริ่มต่อต้านจักรวรรดิโรมัน แต่ไม่สำเร็จ ชาวยิวและพระวิหารถูกทำลาย ชาวยิวถูกเข่นฆ่าจำนวนมาก (ค.ศ 66 – ค.ศ. 73) …. ชาวยิวต่อต้านพวกโรมันอีกครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ครั้งนี้ชาวยิวได้เริ่มอพยพ ลี้ภัยไปทั่วยุโรป (ค.ศ. 131 – 135) … ศต. 5 ดินแดนอิสราเอลอยู่ภายใต้อำนาจของจักรวรรดิไบเซนไทน์ มีการปราบปรามชาวยิวครั้งยิ่งใหญ่ ทำให้ชาวยิวอพยพออกจากอิสราเอลมากขึ้น … ศต.7 ดินแดนอิสราเอลอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอิสลาม ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม เริ่มอพยพเข้ามาในดินแดนอิสราเอล พวกเขากลายเป็นชาวปาเลสไตน์ในเวลาต่อมา ดินแดนอิสราเอล เริ่มถูกเรียกว่า “ดินแดนปาเลสไตน์” … ศต.11-13 นครเยรูซาเล็มและดินแดนปาเลสไตน์อยู่ในภาวะสงครามศาสนา สงครามครูเสด … ค.ศ. 1516 ดินแดนปาเลสไตน์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรออตโตมัน … ศต. 15-19 ชาวยิวที่กระจัดกระจายทั่วยุโรป (ทั่วโลกด้วย) พวกเขาไม่มีหลักแหล่งที่อยู่ เป็นที่รังเกียจของชาวยุโรป …. ชาวยิวหวนคิดถึงแผ่นดินถิ่นเกิดของบรรพบุรุษของพวกเขา อยากเดินทางกลับมายังดินแดนปาเลสไตน์ ซึ่งแต่ก่อนเป็นดินแดนของพวกเขาชาวยิว … ค.ศ. 1917 เกิดปฏิญญาบัลฟอร์ อังกฤษสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ ในการก่อตั้งรัฐชาวยิวในปาเลสไตน์ … ค.ศ. 1918 ดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันในภูมิภาคตะวันออกกลางตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส … ดินแดนปาเลสไตน์เป็นรัฐอารักขาของอังกฤษ … ค.ศ. 1920 ชาวยิวเริ่มอพยพเข้าไปในดินแดนปาเลสไตน์ เริ่มมีการกระทบกระทั่ง ชาวยิวที่ฐานะดีก็ได้ซื้อที่ดินในดินแดนปาเลสไตน์ … ทำให้ชาวปาเลสไตน์ต้องอพยพ … ค.ศ. 1930 ปัญหาระหว่างชาวยิวกับปาเลสไตน์เริ่มบานปลาย อังกฤษเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย โดยออกนโยบายจำกัดชาวยิวที่จะเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์ … ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) ชาวยิวถูกจับเข้าค่ายกักกัน ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ คาดว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 6 ล้านคน …. หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวยิวนับล้านที่รอดชีวิตเดินทางมายังดินแดนปาเลสไตน์อีกครั้ง ทำให้เกิดปัญหาอีกครั้ง … ค.ศ. 1947 อังกฤษไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ยกเรื่องให้สหประชาชาติตัดสิน … จึงแบ่งดินแดนของชาวยิว กับปาเลสไตน์ โดยเยรูซาเล็ม ไม่เป็นของใคร แต่อยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ … วันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1948 ประกาศตั้งรัฐอิสราเอล โดย เดวิด เบนกูเรียน เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก … เกิดความไม่พอใจต่อกลุ่มประเทศอาหรับ ที่ประกอบไปด้วย อิยิปต์ ซีเรีย จอร์แดน เลบานอน และอิรัก จึงได้ก่อตั้ง สันนิบาตรอาหรับ เพื่อต้านอิสราเอล … ค.ศ. 1948 – 1949 สงครามอาหรับ – อิสราเอลครั้งที่ 1 อิสราเอลที่ได้รับแรงหนุนจากอเมริกา เอาชนะสันนิบาตรอาหรับได้ … แต่ก็ยึดบางพื้นได้ อียิปต์ยึดครอง ฉนวนกาซ่า ส่วน จอร์แดน ยึดครอง เวสต์แบงก์ … ผลจากสงครามทำให้ชาวปาเลสไตน์อพยพไปยังดินแดนประเทศอาหรับต่าง ๆ …. ค.ศ. 1956 วิกฤติคลองสุเอซ (สงครามอาหรับ – อิสราเอล ครั้งที่ 2) ครั้งนี้อียิปต์ชนะ … ค.ศ. 1964 ยัสเซอร์ อัล อารฟัต ผู้นำปาเลสไตน์ ได้ตั้งองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือขบวนการ PLO เพื่อสู้กับอิสราเอล และทวงคืนดินแดน … ค.ศ. 1960 – 1980 PLO ก่อวินาศกรรมและก่อการร้ายในอิสราเอล … ค.ศ. 1967 สงครามหกวัน (สงครามอาหรับ – อิสราเอล ครั้งที่ 3) อิสราเอลชนะสงคราม ยึดครองฉนวนกาซา และเวสต์แบงก์จากฝ่ายอาหรับได้ นอกจากนั้นอิสราเอลยังยึดครองแหลมซีนาย จากอียิปต์ … อิสราเอลยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออกที่เคยเป็นของจอร์แดน เยรูซาเล็มทั้งหมดเป็นของอิสราเอล … ค.ศ. 1980 อิสราเอลประกาศให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของประเทศ … ค.ศ. 1973 สงครามยมคิปปูร์ (สงครามอาหรับ – อิสราเอล ครั้งที่ 4) อิสราเอลยึดครองบางส่วนของอียิปต์ และซีเรีย … ค.ศ.1978 อิสราเอลและปาเลสไตน์ ทำข้อตกลงสันติภาพที่แค้มป์เดวิด โดย อเมริกาเป็นคนกลาง … ค.ศ. 1982 อิสราเอลส่งกองทัพเข้าไปเลบานอนเพื่อกวาดล้างกลุ่ม PLO ที่ซ่อนตัวในเลบานอน … กลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์ ต่อต้านอิสราเอล … ค.ศ. 1985 กลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์ ขับไล่กองทัพอิสราเอลในเลบานอนได้สำเร็จ … วันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1988 ยัสเซอร์ อัล อาราฟัต ประกาศตั้งรัฐปาเลสไตน์ ยุติการก่อการร้าย PLO เริ่มต้นที่จะเจรจาสันติภาพกับอิสราเอล … PLO ตั้งกลุ่มฟะตะห์ เน้นต่อสู้แบบสันติวิธี ปาเลสไตน์บางส่วนไม่พอใจ จึงตั้งกลุ่มฮามาส ที่เน้นการติดอาวุธและความรุนแรง … ค.ศ. 1993 สหรัฐเป็นคนกลางเพื่อทำสนธิสัญญาออสโล … แบ่งเขตแดนใหม่ ฉนวนกาซา และเวสต์แบงก์เป็นของ ปาเลสไตน์ เมืองรามัลเลาะห์ ในเวสต์แบงก์เป็นเมืองหลวง … ปาเลสไตน์จึงแบ่งเป็นสองกลุ่มที่ชัดเจน พวกที่อยู่ในฉนวนกาซาอยู่ใต้อำนาจของกลุ่มฮามาส ส่วนในเวสต์แบงก์มีกลุ่มฟะตะห์ ที่ยัสเซอร์ อัล อาราฟัต ได้ตั้งไว้หลังจากล้มเลิกกองกำลังติดอาวุธ PLO กลุ่มนี้จะเน้นการเจรจาด้วยสันติภาพ
3
คนเรามองภาพเดียวกันแต่ให้ความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกัน … ไม่แปลกที่คนเราจะทะเลาะกัน แม้พระคัมภีร์เล่มเดียวกัน พระเจ้าองค์เดียวกัน แต่ก็ยังทะเลาะกัน … เราภาวนาวอนของพระเจ้าในดินแดนที่พระองค์ทรงทำพันธสัญญา เราวอนขอสันติภาพ … ให้ทั้งสองประเทศเห็นแก่ความเป็นมนุษย์ มากกว่าเห็นแก่อาวุธ … หันหน้ามาเจรจาสันติภาพ
4
ชาโลม (shalom) เป็นคำทักทายของชาวยิวเมื่อพบกับ … ชาโลม แปลว่า “สันติสุข” ขอให้ชาวยิวตั้งใจมอบสันติสุข และแสวงหาวิธีการแห่งสันติ เพื่อทำลายความขัดแย้ง
จะไอรอน โดม อาวุธ ขีปนาวุธ นิวเคลียร์ … แต่ที่สำคัญที่สุด และทุกคนแสวงหาร่วมกันในทุกสถานที่คือ “ชาโลม”
ปล. ไอรอน โดม ก็สู้ ชาโลม ไม่ได้