เก่า – ใหม่ ในวัดเซนต์หลุยส์ บทเรียนจากอิฐก้อนนั้น

< 1 นาที

1

            ภาพรองปก หน้าแรกของ “สุวรรณสมโภช วัดเซนต์หลุยส์ 1957 – 2007” แม้นเป็นภาพต่อกันของการเล่นสีที่แตกต่าง ทำให้ย้อนมองถึง “เก่า – ใหม่” ในเซนต์หลุยส์ ได้ดี … ผมพาไปอ่านหนังสืออนุสรณ์ เมื่อครบ 50 ปี วัดเซนต์หลุยส์ สาธร กรุงเทพฯ … ในความทรงจำ จะได้ยินชื่อบุคคลสำคัญ 2 คน ที่อยู่ในสังฆมณฑลของผม ซึ่งทั้งคู่ต่างมีบทบาทสำคัญต่อวัดเซนต์หลุยส์ คือ พระคุณเจ้า มิเชล ลังเยร์ ประมุของค์แรกของสังฆมณฑลนครสวรรค์ และอีกท่านหนึ่งคือ คุณพ่อปิแอร์ ลาบอรี ทั้งสองเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดเซนต์หลุยส์ แล้วก็มาทำงานในสังฆมณฑลนครสวรค์ 

2

            พระสังฆราช หลุยส์ เวย์ … รายงานประจำปี ค.ศ. 1884 พระคุณเจ้าเขียนว่า “จำเป็นต้องสร้างโรงเรียนใหญ่ๆ ที่กรุงเทพฯ แล้ว แต่อนิจจา  เงินทุนของมิสซังเรามีไม่พอ และอีกอย่างหนึ่ง ความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงพยาบาลรับคนไข้จากชนบท และจากพระนครนี้เองก็กำลังปรากฏอย่างแจ้งชัดอีกด้วย …. จะเอาเงินทุนจากที่ไหนมาสร้าง” … ในบันทึกวันแรก ๆ ของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ได้บันทึกว่า “พระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ สนใจในเรื่องการเปิดโรงเรียนกับกิจการเมตตาทั้งมวล ท่านเข้าในดีว่าจำเป็นต้องมีสถาบันรักษาพยาบาล อันเป็นประโยชน์ต่อชาวยุโรปที่อาศัยในกรุงเทพฯ รวมทั้งประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ด้วยเห็นว่า จำนวนชาวต่างประเทศในเมืองหลวงเพิ่มทวีขึ้นเสมอ และ ฯพณฯ เสียดายที่สมัยนั้นยังไม่มีสถาบันคาทอลิก สำหรับรักษาคนเจ็บไข้”  … เมื่อ ร.ศ.112 (ค.ศ.1893) เกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งมี นายซาวี (PAVIE) เป็นผู้แทนฝ่ายฝรั่งเศส … จากกรณีพิพาทที่เกิดขึ้น จึงขอร้องให้พระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ สร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาคนไข้ โดยมอบเงิน 250,000 ฟรังก์ เพื่อช่วยมิสซังสำหรับการดำเนินการ พระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ จึงเริ่มดำเนินการสร้าง 

3

            จากสารของพระสังฆราช หลุยส์ โชแรง ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 1955 กล่าวถึงจุดประสงค์ในการสร้างวัดเซนต์หลุยส์ “… ท่านอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงสร้างวัดใหญ่ขึ้นอีก ทั้ง ๆ ที่กรุงเทพฯ ก็มีวัดมากมายอยู่หลายแห่งแล้ว ข้าพเจ้าขอตอบว่า …. จุดประสงค์เพื่อเผยแพร่พระวรสาร ของพระเยซูคริสตเจ้า พระอาจารย์ของเรา … เพื่อให้พระเจ้าได้เป็นที่รู้จักแก่มวลมนุษย์  เพื่อให้มนุษย์มีจิตสึกถึงพระบัญญัติอันเป็นสัจธรรมนิรันดรขององค์พระผู้สร้าง เพื่อสอนทุกคนไม่ว่ายากดีมีจน ให้รักพระเจ้า …

            พระเจ้าน่าจะมีสิทธิ์สักครั้งเพื่อสงวนเคหะสักหลังจากบรรดาบ้านช่องของเรา จัดให้เป็นสถานที่นักพบกับเรามิได้เชียวหรือ … เพื่อเรากับพระองค์จะได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นกันเอง … เพื่อผู้ที่รู้จักพระองค์แล้วสามารถเข้าไปเงี่ยหูฟังพระสุรเสียง และเชยชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด … สำหรับผู้ที่กำลังแสวงหาพระองค์อยู่ เพียงแค่ยื่นมือออกไปข้างหน้าอย่างตั้งใจ เพื่อจะได้สัมผัสรักและยึดมั่นในพระองค์ … เป็นความจริงที่ว่า พระเจ้าประทับอยู่ทั่วไปทุกแห่งหนตำบลและเราสามารถสัมผัสพระองค์ได้ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม แต่พระองค์จะทรงพอพระทัยเป็นพิเศษที่จะให้เราอยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ในพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

            … วัดที่จะสร้างขึ้นใหม่นี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะถวายนามว่า “วัดเซนต์หลุยส์” …. เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ธรรมทูตรุ่นพี่สององค์ องค์ที่หนึ่ง พระคุณเจ้าหลุยส์เวย์ ซึ่งเป็นประมุขมิสซังสยาม ค.ศ. 1875 – 1909 และอีกองค์หนึ่งคือ คุณพ่อหลุยส์ โรมิเออ เหรัญญิกของมิสซังในสมัยนั้น … ที่จัดเตรียมสำหรับการสร้างวัด 

4

            พระสังฆราช มิเชล ลังเยร์ … ก่อนที่ท่านจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประมุของค์แรกของสังฆมณฑลนครสวรรค์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเซนต์หลุยส์ ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 1957 – 15 สิงหาคม 1967 … ระหว่างนั้นท่านสร้างโรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษา (ค.ศ. 1958) … เปิดโรงเรียนวิริยาลัย ตั้งคณะพลมารี นักขับร้อง เด็กช่วยมิสซา สมาคมนักบุญวินเซนต์ เดอ ปอล คณะสวดผู้ตาย …

            คุณพ่อปิแอร์ ลาบอรี … เจ้าอาวาสตั้งแต่ ค.ศ. 1967 – 1972 … คุณพ่อจัดตั้งโรงเรียนวิริยะพาณิชย์ ปรับเปลี่ยนพระแท่นในวัด ปรับปรุงบ้านพักพระสงฆ์ ตั้งเครดิตยูเนี่ยนเซนต์หลุยส์

            ผมทิ้งท้ายด้วยบทความในเล่ม “คนข้างวัด” … ทุกครั้งที่มาเข้าวัดเพื่อร่วมมิสซา ชอบมองดูกำแพงวัด ที่สร้างด้วยก้อนอิฐ และไม่ได้ฉาบปูนปิด บางก้อนมีสีแดง บางก้อนก๊อกสีหม่นๆ ลักษณะโดยทั่วไปเหมือนกัน แต่ถ้านั่งพินิจพิเคราะห์ ก็จะพบความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของสี ของลักษณะ เมื่อถูกนำมาร้อยเรียงเป็นแถวเป็นแนว เป็นสัดส่วน ก่อให้เกิดความสวยงาม ก้อนอิฐทั้งหมดถูกเชื่อมประสานด้วยปูน เพื่อให้อิฐเกาะเกี่ยวเหนี่ยวติด ทำให้แข็งแรงมั่นคง เป็นดังเช่นพวกเราแต่ละคน ที่มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน วันหนึ่งเรามาร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในวัดแห่งนี้ โดยการเชื่อมประสานด้วยความรัก ความเชื่อความศรัทธาในองค์พระเจ้า จุดนี้นำมาซี่งพระศาสนจักรที่มั่นคงแข็งแรง

ปล. 

            ผมมีโอกาสได้ไปทำงานอภิบาลที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ในช่วงที่เป็นสามเณรใหญ่แสงธรรม มีโอกาสร่วมมิสซาที่วัด หลังจากบวชเป็นพระสงฆ์ ก็ยังมีโอกาสได้ไปทำมิสซาแรกให้กลุ่มผู้สูงอายุของวัด (มีคนเล่าให้ฟังว่าพระคุณเจ้าพิบูลย์ ก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมา) บทสรุปเรื่องก้อนอิฐ จากคนข้างวัดเป็นจริงทีเดียว ที่วัดเซนต์หลุยส์ มีผู้คนจากหลายที่มาเข้าวัดหลังนี้ ทั้งที่มาทำงานกรุงเทพฯ หรือมีพื้นเพเดิมที่นั่น …. เหตุผลที่สร้างวัดหลังใหญ่ในสมัยพระคุณเจ้า หลุยส์ เวย์ เป็นประโยชน์สำหรับยุคนี้จริง ๆ  

Related Post

เรื่องล่าสุด