Ubi Caritas Est Amor Ibi Deus Est ที่ไหนมีรักที่นั่นมีพระเจ้า
(4 บทเรียน จากชีวิตของพระคุณเจ้า ยอแซฟ บรรจง อารีพรรค)
1.ความรัก
เรื่องแรกที่เป็นแบบอย่างสำคัญ และเป็น “คำสั่ง” ของพระเยซูเจ้า เรียกได้ว่าเป็น “พินัยกรรม” ของพระเยซูเจ้า ที่บอกให้เรารักกันและกัน … ชีวิตของพระคุณเจ้ายอแซฟ บรรจง อารีพรรค
พระคุณเจ้าบรรจง อธิบายแนวคิดเรื่อง “ความรัก” ไว้แบบนี้ว่า
“รัก” ข้าพเจ้าชอบคำนี้ ข้าพเจ้ารักคำนี้มาก เพราะ “รัก” คือทุกสิ่งของชีวิต “คน”.. เพราะ “รัก” พระเป็นเจ้าจึงได้สร้าง “คน” สร้าง “คน” ให้เล็กกว่าเทวดาเพียงเล็กน้อย เพราะ “รัก” พระคริสตเจ้าจึงได้ไถ่กู้ “คน” … “รัก” ทำให้ชีวิตมีความหมาย มีความสุข “รัก”ทำให้มีความสุข แม้มีความยากลำบาก มีปัญหา มีอุปสรรค ฯลฯ “รัก” ทำให้ทนได้ ทำให้ทำได้
“รัก” เป็นคำสั้นที่สุดที่มีความหมายมากและยาวที่สุด มีความหมายมาก และยาวเท่ากับชีวิตคน มีความหมายมากและยาวเท่ากับชีวิตพระเป็นเจ้า คือนิรันดร์
ผมยกย่อหน้าแรกของบทความ “รัก” ที่เขียนโดย พระคุณเจ้ายอแซฟ บรรจง อารีพรรค … ในหนังเล่มเล็ก ๆ หน้าปกเขียนว่า “God is Love” … มุมเล็ก ๆ ด้านล่างมีคำอธิบายนิดหน่อยว่าเป็นที่ระลึกโอกาสอะไร … “อนุสรณ์ 25 ปี แห่งการเป็นสงฆ์ ของ ฯพณฯ พระสังฆราชบรรจง อารีพรรค ธันวาคม 1981”
…. ผมอยากเล่าเรื่องราวต่อไปนี้ เพราะผมอยู่ในเหตุการณ์ และเป็นความประทับใจจริงๆ เมื่อเวลาที่พระคุณเจ้าเดินทางไปเยี่ยมคริสตชนบนดอย
เรื่องมีอยู่ว่า ในขณะที่พระคุณเจ้าเดินจะไปเข้าห้องน้ำซึ่งต้องเดินไปด้วยกันสามคน มีผมกับน้องเณรอีกคนที่คอยพยุงท่านไว้ แต่เนื่องจากถนนบนดอยก็ไม่ได้ราบเรียบลาดยางเหมือนในเมือง วันนั้นมีไม้ที่มีตะปูตอกอยู่ พร้อมที่จะทำอันตรายทุกเมื่อหากว่าใครไปเหยียบมันเข้า ผมเห็นก็กลัวว่าจะเป็นอันตรายก็โยนมันทิ้งไป พระคุณเจ้าเห็นดังนี้ก็ต่อว่าผม “โยนทิ้งแบบนี้ใครมาเหยียบเข้าก็ต้องเจ็บน่ะซี” พระคุณเจ้าจึงบอกให้น้องเณรไปเอาตะปูออก … ท่านยังกล่าวประโยคที่ผมจดจำจนถึงวันนี้ “เราต้องคิดถึงคนอื่นด้วย” … ความมรักจึงเป็นความคิดถึงด้วย … และต้องเป็นความคิดถึงคนอื่น ไม่ใช่คิดถึงตัวเอง
Caritas … ในคติพจน์ของพระคุณเจ้า เป็นทั้งอุดมการณ์ และความเป็นจริง พระคุณเจ้าทำให้อุดมการณ์ความรัก เป็นจริง เป็นจังในชีวิตของพระคุณเจ้า … เรากำลังหาโมเดลของงานคารีตัส เพื่อให้งานนี้ได้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ยากไร้ และต้องการความช่วยเหลือ … แนวคิดแบบพระคุณเจ้าบรรจง ช่วยให้เราเข้าใจ งานคารีตัสมากขึ้น … เราทำทุกอย่างเพราะเป็นความรัก แต่ไม่ใช่ความรักแบบบีบบังคับให้เขาต้องเป็นให้ได้เหมือนที่ใจเราคิด สิ่งนี้สำคัญต่อชีวิตมาก … ไม่ว่าจะในเรื่องการอบรม การปกครอง หรือการเทศน์สอน … เราอยากให้คนอื่นเหมือนที่ใจเราคิด แต่คารีตัส ของพระคุณเจ้าบรรจง คือ “อิสรภาพ” ที่เขาจะเลือกเลียนแบบ
2.ความเรียบง่าย
พระสงฆ์ศิษย์เก่าของพระคุณเจ้าบรรจง ท่านหนึ่งให้สมญานามพระคุณเจ้าบรรจงว่า “สมณถะ” หมายถึง “สมณะ+สมถะ” … ผมจำกระเป๋าสตางค์พระคุณเจ้าบรรจงได้ดี เป็นถุงพลาสติกเก่า ๆ ใส่เงิน และเอกสารสำคัญมัดด้วยหนังยาง …พระคุณเจ้าไม่ได้โอ้อวดอะไร ได้แต่บอกว่า “มันสะดวกดี” อีกเรื่องที่ผมประทับใจคือ พระคุณเจ้าบรรจง มักจะเก็บของขวัญที่ได้ในทุกช่วงเทศกาล แล้วพอปีใหม่ พระคุณเจ้าก็เอามาจับสลากให้เณร แม้กระทั่งเสื้อผ้าที่ท่านใส่ก็ตัวเดิม ๆ ไม่กี่ชุด เสื้อยึดที่ใส่ก็เก่า ๆ
… ผมว่า ถ้าเราเข้าใจ เข้าถึงแก่นแท้ของชีวิต เราไม่ได้มีอะไรที่เกินความจำเป็น ไม่ต้องมีอะไรที่หรูหรา ไม่ต้องมีอะไรที่เวอร์วัง … คำตอบนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อความสะดวกเท่านั้น แต่มันคือ “ความเรียบง่าย” หรือ “สมถะ” … ลองย้อนดูตัวเรา เรามีของหรูหราประดับบารมีเพื่ออะไร … ถ้าคำตอบคือเพื่อ “สะดวก” มันก็โอเค แต่ถ้าในใจคิดว่า “มีเพื่อโอ้อวด” หรือมีไว้เพื่อ “สบาย” นี่ก็เริ่มผิดจุดประสงค์แล้ว
ความเรียบง่าย … ผมคิดถึงคำสอนของพระคุณเจ้า พระคาร์ดินัลมีชัย เคยสอนเณรของกรุงเทพฯ ว่า “สังฆมณฑลจัดทุกสิ่งทุกอย่างให้เรา เพื่อให้เราสะดวก … ไม่ใช่เพื่อให้เราสบาย” แค่นี้ก็เข้าใจตรงกันแล้ว
พระคุณเจ้าพิบูลย์ เคยให้ข้อคิดเกี่ยวกับการไม่มีอะไรมากมายในชีวิตไว้ว่า “การไม่มีอะไรมากมาย เวลาย้ายไปไหนก็สะดวก มีของแค่ลังเดียว เสื้อผ้าสองสามตัว พระคัมภีร์ หนังสือทำวัตร สายประคำ … ถ้าเรามีมาก เราก็ห่วงมาก กังวลมากด้วย”
3.การให้โอกาส
พระคุณเจ้าบรรจง เป็นผู้ที่ให้โอกาสคนอื่นเสมอ … ผมเชื่อว่า “ทุกคนเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อยู่ที่ว่าเราจะอดทนกับเขา และรอคอยให้เขาเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยขนาดไหน” พระสงฆ์รุ่นพี่ มักจะเล่าเรื่องราวสมัยพระคุณเจ้าบรรจง ปกครองสังฆมณฑล ทุกเดือนจะมีการเข้าเงียบพระสงฆ์ที่สำนักมิสซัง … พระคุณเจ้าบรรจง จะใช้เวลาไม่มากนักที่จะพบกับพระสงฆ์รายบุคคล หรือใครที่ต้องการพบกับพระคุณเจ้า ท่านก็ยินดี การพูดคุยกันทำให้รู้จักกัน พระคุณเจ้าใช้วิธีนี้ และสอนให้เราใช้วิธีนี้ด้วย
แนวคิดของพระคุณเจ้าบรรจง เรื่องการให้โอกาสคนอื่น เกี่ยวข้องกับแนวทางการอบรม ที่พระคุณเจ้าวางแนวทางให้เราไว้ …
“แนวทางการอบรมหรือการดำเนินชีวิตของแต่ละคนนั้น แต่ละแห่งนั้นแตกต่างกัน เพื่อให้เหมาะสมกับการอบรมที่หลายครั้งนำหลักการในบางส่วนมาใช้ไม่ได้ ต้องลึกซึ้งถึงจิตวิทยาของคน ความแตกต่าง จะนำวิธีการอบรมแบบที่เคยรับมาใช้กับสมัยนี้ก็ไม่ได้ ทั้งหมดต้องเลือกหรือประยุกต์วิธีการต่างๆ ให้เข้ากับยุคสมัย สิ่งแวดล้อมเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนนิสัยคน เราจะสอนให้เด็กเชื่อฟัง ไม่เถียง ก็ไม่ได้ เพราะประชาธิปไตย แต่เราจะตัดเขาออกจากเรา หรือตัดเราออกจากเขาไม่ได้” “ถ้าเราเข้าใจภูมิหลังของเขา เราจะรักเขาได้ และให้อภัยเขาง่ายขึ้น”
เพราะถ้าหมดหนทางที่จะทำอะไรแล้ว ก็ยังต้องให้โอกาสอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ตัดทุกโอกาสของเขาไป … การได้รับโอกาส เป็นของทุกคน เพราะพระจิตเจ้าจะดลใจให้เขาเปลี่ยนแปลงชีวิตได้
4.งานแพร่ธรรม
ผมชอบบทความของคุณพ่อมนัส ศุภลักษณ์ พระสงฆ์รุ่นพี่ของเรา ที่เขียนไว้ในหนังสืออนุสรณ์โอกาสสำคัญของพระคุณเจ้าบรรจง “ธรรมทูตกะเหรี่ยง” ยิ่งเห็นภาพพ่อผู้เปี่ยมด้วยความรัก และนักแพร่ธรรม
ไม่ใช่ผมคนเดียวที่สามารถบุกบั่นฟันฝ่าเช่นนั้น และก็ไม่ใช่เพียงแต่มิชชันนารี แก็งแก็ง จอส และพ่ออ้วน (หมายถึง คุณพ่อแกงตาร์ด ,คุณพ่อกียู, คุณพ่อตรีเครอัต)ที่ทำอย่างเดียวกับผม … ฯพณฯ บรรจง อารีพรรค ก็สามารถทำอย่างเดียวกัน ผมจำได้ว่าผมกำลังนอนซมเพราะพิษไข้ป่าในกระท่อมไม้ไผ่ของผมที่แม่เวย์เมื่อท่านบรรจงไปถึงที่นั่นเป็นครั้งแรก
“ไงหลังติดเสื่อเลยเชียวรึ” ท่านแซวผม
“ครับแย่หน่อย” ผมตอบ “แต่ค่อยยังชั่วหน่อยแล้ว …. “อ้ายจง” (ครูคำสอนและครูสอนภาษาปกาเกอะญอที่อยู่กับคุณพ่อมนัส สมัยนั้น) กับผม ช่วยกันผลัดฉีดยาแก้ไข้ให้กันและกัน ก็เลยดีขึ้นหน่อย ว่าแต่พ่อละครับ “เหนื่อยมากไหมครับ” ผมย้อนถาม
“ผมว่า ผมเดินเก่งกว่าคุณ” ท่านพูดเชิงล้อเลียน “แก็งแก็งพาผมเดินหลงไปอย่างน้อยสองชั่วโมงแทบตายแต่ก็มาถึงจนได้”
“การเดินของท่านได้พิสูจน์ว่าเป็นจริงในเวลาต่อมา ท่านสามารถเดินเข้าออกแม่เวย์ แม่สอด เป็นประจำปีละครั้ง ปีก่อนท่านได้ไปถึงแม่สะปอคี ซึ่งขึ้นเขาชันดิ่งเลยแม่เวย์ไปอีก 4-5 ชั่วโมง เพื่อเยี่ยมคริสตังกะเหรี่ยงกลับใจใหม่ที่นั่น และเมื่อปีที่แล้วท่านก็ได้ไปถึงที่นั่นอีกครั้งเพื่อล้างบาปให้กับชาวบ้านถึงกว่า 40 คน และท่านก็ยังเดินเลยต่อไปอีก จนทะลุถึงแม่สะเรียง เพื่อร่วมในงานบวชของพระสงฆ์กะเหรี่ยงคนแรกของประเทศไทย คือคุณพ่อสนั่นหรือ “เซ้แฮ” ในนามกะเหรี่ยง…. จากนั้นท่านก็นั่งรถผ่านเชียงใหม่กลับลงมาผ่านตากและเข้าไปที่หมู่บ้านปูแป้ในเขตของพ่อกียูหรือจอส ซึ่งจากที่นั่นท่านเดินเท้าขึ้นดอยไปอีก 4-5ชั่วโมง ถึงบ้านสามหมื่นทุ่ง และล้างบาปให้คริสตังใหม่อีกกว่า 40 คน
ชาวกะเหรี่ยงดีใจที่ท่านไปเยี่ยมบ่อย เพราะศาสนาคริสต์ไม่ใช่ของฝรั่งดังถูกกล่าวหา ในเมื่อเห็นตำตาว่าคนไทยเป็นประมุขของเขตปกครองที่นั่น …พวกเรามิชชันนารีก็ดีใจ เพราะท่านเดินทางไปให้กำลังใจถึงที่ และท่านก็เห็นและเข้าใจความยากลำบากไม่ใช่ของเรามิชชันนารี แต่ของชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ยังอดยังอยาก มีปัญหาปากท้องอยู่ไม่หยุดหย่อน … ท่านก็เอาใจใส่ดูแลเหมือนพ่อที่เอาใจใส่ลูก เอาใจใส่หลาน ……
พระสังฆราชผู้เดินดอย … ผมได้ยินคำนี้เสมอ พระคุณเจ้ามีช่วงหนึ่งของปี (ก็หลายสัปดาห์) ไปทำงานอภิบาลบนดอย สมัยก่อนก็ไม่ใช่สมัยนี้ … งานลำบาก เหนื่อย แต่พระคุณเจ้าไม่เคยท้อที่จะไป
เมื่อท่านอยู่เป็นอธิการองค์แรกของแสงธรรม ท่านมีแนวคิดที่จะตั้งกลุ่มงานแพร่ธรรม ที่พร้อมไปทำงานทุกที่ โดยเฉพาะงานด้านแพร่ธรรม … และที่สุดก็ค่อย ๆ พัฒนาแนวความคิดนี้ต่อมาจนกลายเป็น “คณะธรรมทูตไทย” … พระคุณเจ้าบรรจง เป็นพระสังฆราชองค์แรกในนามสภาพระสังฆราชฯ ที่ได้มีส่วนอย่างใกล้ชิดในการก่อตั้งคณะธรรมทูตไทย
ธรรมชาติของเราคริสตชน คืองานแพร่ธรรม … เราทุกคนต้องประกาศพระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความรักให้กับทุกคน
ปล.
ผมเขียนเรื่องเหล่านี้ ในวันที่ 1 กันยายน 2024 … ครบ 12 ปี การจากไปของพระคุณเจ้ายอแซฟ บรรจง อารีพรรค … ขอคำภาวนาสำหรับพระคุณเจ้าด้วยครับ …