พระสังฆราช ยอแซฟ พิบูลย์ วิสิฐนนทชัย
Bishop Joseph Pibul Visitnondachai
ประมุขสังฆมณฑลนครสวรรค์ปี ค.ศ. 2009-ปัจจุบัน
ชีวประวัติ
- วัน เดือน ปี เกิด 1 มิถุนายน ค.ศ. 1946
- เชื้อชาติ จีน
- สัญชาติ ไทย
- ภูมิลำเนา ต. โสนลอย อ. บางบัวทอง จ. นนทบุรี
- มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน เป็นชาย 7 คน เป็นหญิง 2 คน คุณพ่อเป็นบุตรคนที่ 4
- ชื่อบิดา อันเดร ซ่วน วิสิฐนนทชัย (แซ่ตั้ง) นับถือศาสนาคาทอลิก
- ชื่อมารดา อันนา ชุนบ๊วย วิสิฐนนทชัย (แซ่โง้ว)
- วัน เดือน ปี เกิด 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1913
- นับถือศาสนาคาทอลิกศีลล้างบาป ณ วัดพระแม่สกลสงเคราะห์ บางบัวทอง
- ศีลกำลัง ณ วัด พระแม่สกลสงเคราะห์ บางบัวทอง
การศึกษา
- ปี ค.ศ. 1952-1957 เรียนที่โรงเรียนพระแม่สกลสงเคราะห์ บางบัวทอง ตั้งแต่ชั้นเตรียมประถม ถึงชั้นประถมปีที่ 4
- ปี ค.ศ. 1957-1960 เรียนที่โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมปีที่ 3
- ปี ค.ศ. 1961-1963 เรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมปีที่ 6
- ปี ค.ศ. 1963-1968 เป็นครูเณร
- ปี ค.ศ. 1968-1974 เรียนที่บ้านเณรใหญ่ ปีนัง (General College) จบปริญญาตรี สาขาปรัชญา และเทวศาสตร์
การบวช
- สมัครเข้าบ้านเณร ปี ค.ศ. 1957
- ผู้ส่งเข้าบ้านเณร คุณพ่อกิมฮั้ง แซ่เล้า ในนามของวัดพระแม่สกลสงเคราะห์ บางบัวทอง
- ได้รับศีลบวชขั้นศีลโกน ที่วัดน้อยประจำบ้านเณร
- ได้รับศีลบวชขั้นผู้เฝ้าประตู และผู้อ่านพระคัมภีร์ วันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1971ที่ วัดบนเกาะปีนัง (College General) สังฆมณฑลปีนัง โดย พระสังฆราชเกรโกรรี ยอง ประมุขสังฆมณฑลปีนัง
- ได้รับศีลบวชขั้นผู้ขับไล่ปีศาจ และผู้ถือเทียน ที่ ประเทศมาเลเซีย
- ได้รับศีลบวชขั้นอุปานุสงฆ์ และขั้นอนุสงฆ์ (บวชสังฆานุกร) วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1973 ที่ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสนโดย ฯพณฯ พระอัครสังฆราช ยวง นิตโย
ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์
วันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1974 ที่ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ สามพราน นครปฐม โดย พระอัครสังฆราช ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู
การปฏิบัติงาน
- 1 ธ.ค. 1973 – 1 พ.ค. 1979 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัครเทวดาราฟาแอล ปากน้ำ
- 1 พ.ค. 1979 – 8 เม.ย. 1983 เจ้าอาวาสวัดแม่พระประจักษ์เมืองลูร์ด บางสะแก
- 29 ม.ค. 1982 ผู้แทนอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ในคณะอนุกรรมการโครงการย่อยเกี่ยวกับเกษตรกรรมฯ
- 1 ก.พ. 1982 ผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนา
- 8 เม.ย. 1983 – 15 พ.ค. 1992 อธิการสามเณราลัย นักบุญยอแซฟ สามพราน และที่ปรึกษาพระสังฆราช
- 5 พ.ค. 1987 เป็นที่ปรึกษาพระสังฆราช
- 5 พ.ค. 1987 สมาชิกสภาสงฆ์
- 5 พ.ค. 1987 – 15 พ.ค. 1992 ผู้อำนวยการฝ่ายการสงเคราะห์และพัฒนา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
- 15 พ.ค. 1992 -1996 ผู้อำนวยการฝ่ายสังคมของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ปฏิบัติงานเต็มเวลา
- พักที่วัดเซนต์หลุยส์
- 1994-1996 เลขาธิการสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อการพัฒนา
- 1997 – 2009 ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาชุมชน
- 28 ก.ย. 1998 – 2009 ผู้อำนวยการสำนักงานคาทอลิกสงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์ COERR)
- 5 พ.ค. 1996 – 28 ก.ย. 1998 จิตตาธิการอารามพระหฤทัยคลองเตยคอนแวนต์ คลองเตย
- 28 ก.ย. 1998 – 6 พ.ค. 2001 ผู้อำนวยการศูนย์สงเคราะห์ผู้ประสบภัยและผู้ลี้ภัย (โคเออร์ COERR)
- 6 พ.ค. 2001 – 10 พ.ค. 2004 จิตตาธิการอารามพระหฤทัย ฯ คลองเตย และผู้ช่วยเลขาธิการ ในสภาพระสังฆราชฯ
- 1 เมษายน 2004 – 2009 ผู้ช่วยเลขาธิการ คณะกรรมาธิการฝ่ายสังคมสภาพระสังฆราชฯ และพักประจำที่วัดนักบุญยอแซฟ ตรอกจันทน์
- 1 มกราคม 2005 – 2009 ผู้อำนวยการคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ถูกคุมขัง (NCCM)
ด้านงานอภิบาล
คุณพ่อพิบูลย์ ซื่อสัตย์ต่องานในด้านศาสนบริการของพระศาสนจักรมิได้ขาด เวลาที่มีพิธีกรรมในวัดที่ท่านมีหน้าที่รับผิดชอบ คุณพ่อจะละจากงานสำนักงานไปทำหน้าที่ของคุณพ่อทันทีและไม่ขาดตกบกพร่องเลย
คุณพ่อพิบูลย์ ให้ความสำคัญกับงานด้านสังคมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะงานด้านการพัฒนา “คน” เน้นที่การพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะในระดับชุมชน คุณพ่อได้ร่วมกับผู้ทำงานด้านสังคมของสังฆมณฑลต่างๆ พัฒนาโครงการและแผนงานมากมายตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนางานด้านสังคมของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย
คุณพ่อพิบูลย์ปฏิบัติคำสอน “รักและรับใช้” จากพระวรสารอย่างดี และยังได้ยึดถือเอาพระสมณสาร “พระเจ้าคือความรัก” หรือ Deus Caritas Est ของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 เป็นแนวทางหลักในการทำงานอย่างเหนียวแน่น นอกจากนั้น ท่านยังศึกษาแนวทางคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ตลอดจนพระสมณสารอีกหลายฉบับของพระสันตะปาปาหลายๆ พระองค์ อาทิ พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 และ พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เป็นต้น
ความหมายตราประจำตำแหน่ง
“ DEUS CARITAS EST ” พระเจ้าเป็นองค์ความรัก ความรัก คือสายสัมพันธ์ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนระหว่างการให้และการรับซึ่งกันและกัน เริ่มต้นจากพระบิดาทรงรักพระบุตรร่วมกับพระจิต ความรักของพระเป็นเจ้าได้ขยายออกและตกทอดมาถึงเราโดยทางพระเยซูคริสตเจ้า เป็นความรักที่สร้างสรรค์ เสียสละ อดทนนาน และเป็นอมตะนิรันดร์
“ไฟ” แทนพระจิตเจ้า พระองค์ทรงประทับอยู่กับพระศาสนจักร ช่วยส่องสว่างให้เข้าใจพระวาจา และบันดาลให้เร่าร้อนด้วยความรักและรับใช้พระคริสตเจ้า ในการนำประชากรชาวไทยสู่ความศักดิ์สิทธิ์ สมเป็นบุตรของพระบิดาเจ้า พระองค์จะบันดาลให้พันธกิจความรักของพระเจ้าดำเนินต่อไป อาศัยประชาชนที่เชื่อและศรัทธาในอุดมการณ์ของพระคริสตเจ้า
“พระหฤทัย” อธิบายความรักในแบบของพระคริสตเจ้า เป็นความรักที่เสียสละ Sacrificial Love ยอมพลีเป็นบูชา ยอมรับมงกุฎหนาม มงกุฎแห่งการดูถูกเหยียดหยาม ยอมรับไม้กางเขนสัญญาลักษณ์ของความทุกข์ที่เกิดจากบาปของประชาชน พระองค์ทรงยอมรับให้ตกกับพระองค์เอง ยอมรับบาดแผลที่ถูกประชาชนทิ่มแทง แต่บาดแผลเดียวกันนี้กลับกลายเป็นท่อธารน้ำและเลือดที่หลั่งออกมาเป็นอาหารเลี้ยงประชาชนให้มีชีวิตนิรันดร์ (ดังนั้น ในทุกมิสซาพระสงฆ์จะกล่าวคำของพระองค์ซ้ำแล้วซ้ำอีก “กายของเรามอบแด่ท่าน… โลหิตของเราหลั่งออกเพื่อยกบาปของท่าน…”)
“ดวงดาว” แทนรูปแม่พระ บุคคลตัวอย่างผู้ให้กำเหนิดพระคริสตเจ้า และดำเนินชีวิตตามพระวาจาของพระองค์ มีความสนิทสนมเป็นกายเดียวใจเดียวกัน บรรดาอัครธรรมทูตได้รับพระนางเป็นมารดาของพวเขา ตามคำสั่งของพระคริสตเจ้าก่อนสิ้นพระชนม์ สำหรับประเทศไทย มิสชันนารีฝรั่งเศษได้ประกาศแจ้งคริสตชนไทย ในบทภาวนาประจำวันที่ 15 สิงหาคมของทุกปี “บทถวายประเทศไทยแด่แม่พระ ในโอกาสวันสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ องค์อุปถัมภ์ของประเทศไทย” …คริสตชนไทยทุกคนจึงศรัทธาในแม่พระตั้งแต่โบราณกาลมา
“ดอกไม้” แทนรูปนักบุญยอแซฟ ผู้พิทักษ์พระเยซูเจ้าช่วงเจริญวัย ท่านดำเนินชีวิตในความบริสุทธิ์ สุภาพ ถ่อมตน และยึดถือน้ำพระทัยของพระเจ้า เป็นอุดมการณ์ เป็นแบบอย่างของผู้นำที่ประสงค์จะสร้างครอบครัวแบบยั่งยืน สงบ สันติ แต่มีพลังกอบกู้มวลชน